genie-logo

Places

Projects

สรุปขั้นตอนก่อนตัดสินใจ “รีไฟแนนซ์” คอนโด และ บ้าน เข้าใจง่ายภายใน 5 นาที

Created Mar 25, 2022

สวัสดีค่าาา เพื่อนรัก นักอ่านของน้อง Genie วันนี้น้องก็มีบทความที่น่าสนใจสำหรับคนที่กำลังจะกู้ซื้อบ้าน หรือ คนที่มีบ้านอยู่แล้วก็ต้องทำความรู้จักกับคำนี้เลยค่ะ “รีไฟแนนซ์” นั่นเอง เชื่อว่าเพื่อนๆหลายท่านอาจจะคุ้นเคยกับคำนี้มาบ้างแล้ว แต่น้อยคนนักที่จะรู้ความหมายของการ “รีไฟแนนซ์” จริงๆ ในวันนี้น้อง Genie ได้รวบรวมข้อมูลของการ “รีไฟแนนซ์” มาให้ทุกท่านได้รับชมกันค่ะ แต่ก่อนที่เราจะเข้าเรื่อง “รีไฟแนนซ์” นั้น เรามาทำความรู้จักกับ “อัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบคงที่ (Fixed Rate)” และ “อัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบลอยตัว (Floating Rate)” กันก่อนดีกว่าค่ะ

  1. อัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ (Fixed Rate) คือ อัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้เป็นตัวเลขเฉพาะ ไม่ขึ้นหรือลงต้นทุนของสถาบันการเงิน แต่จะเป็นดอกเบี้ยระยะสั้นในช่วงแรกเท่านั้นประมาณ 1 – 5 ปี แล้วแต่ที่ทางธนาคารจะกำหนด และหลังจากนั้นจะเปลี่ยนเป็นอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัวค่ะ
  2. อัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว (Floating Rate) คือ อัตราดอกเบี้ยที่เปลี่ยนแปลงไปตามต้นทุนของสถาบันการเงิน พูดง่ายคือ เปลี่ยนผันไปตามเศรษฐกิจในช่วงนั้นๆนั่นเองค่ะ โดยสถาบันการเงินจะประกาศออกมาเป็นครั้งๆไป ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่มีผลกับอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัวจะเรียกว่า อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงที่เราสามารถพบเห็นได้บ่อยๆนั้นจะประกอบด้วย MLR, MOR และ MRRค่ะ
  • MLR (Minimum Loan Rate) คือ อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี เช่น มีประวัติหรือฐานะการเงินที่ดี มีหลักทรัพย์ค้ำประกันอย่างเพียงพอ โดยส่วนใหญ่ใช้กับเงินกู้ระยะยาวที่มีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน เช่น สินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจ
  • MOR (Minimum Overdraft Rate) คือ อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ขั้นดี ประเภทวงเงินเบิกเกินบัญชี โดยดอกเบี้ยจะถูกคิดเฉพาะส่วนที่เบิกเกินกว่าเงินในบัญชีเท่านั้น
  • MRR (Minimum Retail Rate) อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล หรือ สินเชื่อที่อยู่อาศัย

ซึ่งในวันนี้เราจะมาพูดถึงเรื่องการ “รีไฟแนนซ์” หรือก็คือ สินเชื่อที่อยู่อาศัยนั่นเองค่ะ โดยสิ่งที่เราจะต้องคำนวณและสังเกตนั้นจะเป็นในส่วนของ MRR นั่นเองค่ะ และต้องบอกก่อนนะคะว่า MRR ของแต่ละธนาคารนั้นจะไม่เท่ากัน โดยทั่วไปแล้วเราจะสามารถเช็คได้ที่หน้าสาขาของธนาคารนั้นๆ หรือ เข้าไปที่หน้าเว็ปไซต์ของธนาคารก็ได้เช่นกันค่ะ หรือจะเข้าไปเช็คได้ที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ได้เช่นเดียวกันค่ะ และเื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลานะคะ เราไปรู้จักกับการ “รีไฟแนนซ์” กันเลยค่าาาา

undefined

รีไฟแนนซ์ (Refinance) คืออะไร

รีไฟแนนซ์คอนโด หรือ รีไฟแนนซ์บ้าน คือ การขอยื่นกู้สินเชื่อกับ ธนาคารใหม่ เพื่อมาใช้หนี้ให้ ธนาคารเก่า โดยหลังจากนั้นค่อยมาผ่อนชำระหนี้ใหม่ในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลงนั่นเองค่ะ แต่มีข้อกำหนดคือจะต้องผ่อนจนหมดสัญญากับธนาคารเดิมซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะอยู่ที่ 3 ปีค่ะ

หรือพูดง่ายๆก็คือการ “รีไฟแนนซ์” คือการเปลี่ยนเจ้าหนี้ใหม่ที่ให้ข้อเสนอดีกว่าเจ้าหนี้เดิมนั่นเองค่ะ เช่น ลดอัตราดอกเบี้ย ลดค่าเปลี่ยนสัญญา หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆค่ะ

ซึ่งการ “รีไฟแนนซ์” นั้นสามารถทำได้กับสินเชื่อบ้าน, สินเชื่อคอนโด, สินเชื่อรถยนต์ ฯลฯ แต่ที่นิยมกันมากที่สุดจะเป็นสินเชื่อบ้าน และ คอนโดค่ะ เพราะว่าจะได้ส่วนลดดอกเบี้ยที่ถูกกว่าเยอะมากๆ

undefined

ข้อดีของการรีไฟแนนซ์ (Refinance)

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นค่ะว่า การรีไฟแนนซ์นั้นจะทำให้ได้อัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง จึงช่วยให้จำนวนดอกเบี้ยที่ต้องเสียในแต่ละเดือน และ ดอกเบี้ยรวมนั้นลดลงตามไปด้วย ง่ายๆเลยก็คือ ค่าผ่อนในแต่ละเดือนจะถูกนำไปหักล้างเงินต้นได้มากขึ้น เพราะดอกเบี้ยได้ถูกลงกว่าเดิมแล้วนั่นเองค่ะ

เพื่อนๆสามารถเข้าเข้าไปคำนวณดอกเบี้ยคร่าวๆได้ที่เว็ปไซต์ thaiinterest หรือ ddproperty ได้เลยนะคะ แต่น้อง Genie จะขอยกตัวอย่างเพื่อให้เพื่อนๆได้เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น ดังนี้ค่ะ

**ยกตัวอย่างเช่น**

นางสาวใจดียื่นขอสินเชื่อในการซื้อคอนโดได้วงเงินอยู่ที่ 3 ล้านบาท กับธนาคารแห่งหนึ่งเป็นเวลา 30 ปี หรือทั้งหมด 360 งวด โดยกำหนดผ่อนชำระอยู่ที่งวดละ 15,000บาท / MRR = 7% ธนาคารได้กำหนดดอกเบี้ย 3 ปีแรกอยู่ที่ 3.3% ปีที่ 4 เป็นต้นไป MRR-2.0%

“วิธีการคำนวณดอกเบี้ยคือ นำเงินต้น x อัตราดอกเบี้ย x จำนวนวันของเดือนนั้นๆ ➗ จำนวนวันของปี

  • ดอกเบี้ยในงวดแรกนั้นนางสาวใจดีจะต้องจ่าย (3,000,000 x 3.3% x 31) ➗ 365 = 8,408.22 บาท
  • แต่นางสาวใจดีเลือกผ่อนชำระที่ 15,000 บาท เพราะฉะนั้นในงวดแรกนางสาวใจดีผ่อนเงินต้นที่ 15,000 – 8,408.22 = 6,591.78 บาท
  • เท่ากับว่าตอนนี้เงินต้นของนางสาวใจดีเหลืออยู่ 3,000,000 – 6,591.78 = 2,993,408.22 บาท
  • สรุปคือ หากนางสาวใจดีผ่อนคอนโดเดือนละ 15,000 บาท ในแต่ละเดือนนั้นเงินต้นจะถูกหักออกไปเดือนละ 6,591.78 โดยประมาณ

แต่หลังจากที่นางสาวใจดีผ่อนจบครบกำหนดสัญญา 3 ปี แล้วนั้น นางสาวใจจะมีทางเลือกได้ 2 ทางคือ

  1. ผ่อนต่ออยู่กับธนาคารเดิม และ เงื่อนไขเดิม
  2. รีไฟแนนซ์กับธนาคารใหม่ และ เงื่อนไขใหม่
undefined

หากนางสาวใจดีเลือกข้อที่ 1 ผ่อนต่ออยู่กับธนาคารเดิม และ เงื่อนไขเดิม ก็สามารถยกตัวอย่างได้ดังนี้ค่ะ

คำนวณหลังจากผ่อนไปแล้ว 36 งวด หรือ 3 ปี นางสาวใจดีทั้งผ่อนทั้งโปะจนเหลือเงินต้น 2,700,000 บาท และยังผ่อนอยู่กับธนาคารเดิม เงื่อนไขเดิม ซึ่งหากเข้าสู่ปีที่ 4 MRR-2.0% จะได้ดอกเบี้ยที่ 5%

  • ดอกเบี้ยในงวดที่ 37 นั้นนางสาวใจดีต้องจ่าย (2,700,000 x 5% x 31) ➗ 365 = 11,465.75 บาท
  • แต่นางสาวใจดียังผ่อนอยู่ที่เดือนละ 15,000 บาท หมายความว่านางสาวใจดีจะจ่ายเงินต้นได้เพียง 3,534.25 บาท
  • เพราะฉะนั้นในเดือนต่อไปเงินต้นของนางสาวใจดีจะเหลือ 2,700,000 - 3,534.25 = 2,696,465.75 บาท
undefined

แต่หากนางสาวใจดีเลือกข้อที่ 2 รีไฟแนนซ์กับธนาคารใหม่ และ เงื่อนไขใหม่ สามารถยกตัวอย่างได้ดังนี้ค่ะ

หากนางสาวใจดีเลือกที่จะ “รีไฟแนนซ์” กับธนาคารแห่งใหม่ นางสาวใจจะได้โปรโมชั่นดอกเบี้ยที่ถูงลงอีกหนึ่งครั้ง เช่น ธนาคารใหม่ MRR 6.75% กำหนดดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรกอยู่ที่ 3.8% ปีต่อไป MRR – 0.25%

  • นางสาวใจดีทำเรื่องรีไฟแนนซ์กับธนาคารใหม่วงเงิน 2,700,000 ดอกเบี้ยงวดแรกที่ต้องจ่ายเท่ากับ (2,700,000 x 3.8% x 31) / 365 = 8,713.97 บาท
  • นางสาวใจดียังผ่อนอยู่ที่เดือนละ 15,000 บาท หมายความว่านางสาวใจดีจะจ่ายเงินต้นไป 6,286.03 บาท
  • เพราะฉะนั้นในเดือนต่อไปเงินต้นของนางสาวใจดีจะเหลือ 2,700,000 – 6286.03 = 2,693,713.97 บาท

เป็นอย่างไรบ้างคะ ข้อดีของการรีไฟแนนซ์ เห็นข้อแตกต่างได้อย่างชัดเจนเลยเพราะว่าหากเราไม่รีไฟแนนซ์นั้น เราจะต้องเสียดอกเบี้ยที่แพงขึ้น และจะทำให้เราหมดหนี้ได้ช้าด้วยค่ะ แต่เมื่อมีข้อดีก็ต้องมีข้อเสียค่ะ ซึ่งข้อเสียนั้นก็มีดังนี้ค่ะ

undefined

ข้อเสียของการรีไฟแนนซ์

ก่อนที่เราจะตัดสินใจยื่นเรื่อง “รีไฟแนนซ์” ไปนะคะ น้อง Genie อยากให้ทุกคนคำนึงว่า ดอกเบี้ยที่เราจะได้รับนั้นคุ้มค่ากับการย้ายสัญญาใหม่หรือไม่ เพราะการรีไฟแนนซ์นั้น เปรียบเสมือนการซื้อบ้านใหม่เลยก็ว่าได้นะคะ เพราะไหนจะต้องเสียเวลาในการเตรียมสารใหม่ทั้งหมด ไหนจะต้องมีค่าใช้จ่ายต่างๆอีกเพียบ หากคำนวณค่าใช้จ่ายคร่าวๆแล้วดอกเบี้ยห่างกันแค่ 0.25% แต่ต้องเสียเวลากับเอกสารต่างๆนั้นอาจจะไม่คุ้มค่าก็ได้ค่ะ

undefined

เอกสารที่ต้องเตรียมก่อนยื่นเรื่อง “รีไฟแนนซ์”

อย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนะคะ “การรีไฟแนนซ์” ก็เปรียบเสมือนในการซื้อคอนโด หรือ ซื้อบ้านใหม่นั่นเอง เพราะฉะนั้นทางธนาคารจำเป็นที่จะต้องตรวจสอบตัวตนเราอีกครั้ง ว่ามีคุณสมบัติตรงจตามเงื่อนไขหรือไม่ โดยหลักๆแล้วเอกสารที่ต้องเตรียมแบ่งเป็น 3 ประเภทดังนี้ค่ะ

  1. เอกสารแสดงข้อมูลส่วนบุคคล

จะเป็นเอกสารเพื่อให้ทางธนาคารนั้นสามารถตรวจสอบและสามารถยืนยันตัวตนเราได้ว่าเป็นผู้กู้จริงๆ ไม่ใช่ผู้แอบอ้างนั่นเองค่ะ ประกอบไปด้วย

  1. สำเนาบัตรประชาชน
  2. สำเนาทะเบียนบ้าน
  3. สำเนาใบเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล (ถ้ามี)
  4. สำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน ของคู่สมรส (ถ้ามี)
  5. สำเนาทะเบียนสมรส (ถ้ามี) / หย่า (ถ้ามี)
  6. สำเนาใบมรณบัตร และทะเบียนสมรสของคู่สมรส (กรณีคู่สมรสเสียชีวิต)

**กรณีที่มีผู้กู้ร่วมด้วย ให้เตรียมเอกสารแสดงตัวแบบเดียวกันได้เลยค่ะ**

2. เอกสารแสดงรายได้

เอกสารประเภทนี้ทางธนาคารจะขอเพื่อพิจารณาความสามารถในการผ่อนชำระสินเชื่อ และประวัติการเดินบัญชีที่ผ่านมา ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วนดังนี้

2.1.บุคคลที่มีรายได้ประจำ

2.1.1.สลิปเงินเดือน ย้อนหลัง 3 เดือน หรือหนังสือรับรองการทำงาน

2.1.2.สำเนาบัญชีธนาคารย้อนหลัง 6 เดือน

2.1.3.หนังสือผ่านสิทธิสวัสดิการ (ถ้ามี)

2.1.4.สำเนารับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ) (สำหรับบางธนาคารเท่านั้น)

2.2.กรณีบุคคลที่ประกอบธุรกิจส่วนตัว

2.2.1.สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียน/ใบทะเบียนการค้า

2.2.2.สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีชื่อผู้กู้/ผู้กู้ร่วม

2.2.3.สำเนาบัญชีธนาคารย้อนหลัง 12 เดือน (ทั้งในนามบุคคล และกิจการ)

2.2.4.สำเนา ภ.พ. 30 (ถ้ามี) หรือ ภงด. 50/51 ย้อนหลัง 5 เดือน (ถ้ามี)

**กรณีที่มีผู้กู้ร่วมด้วย ให้เตรียมเอกสารแสดงรายได้แบบเดียวกันได้เลยค่ะ**

สำหรับการขอเอกสารแสดงรายได้นั้นบางธนาคารจะขอเอกสารไม่เหมือนกันนะคะ บางธนาคารจะขอสำเนาบัญชีย้อนหลังนานถึง 12 เดือนเลยก็มีค่ะ

3.เอกสารด้านหลักประกัน

ในส่วนนี้จะเป็นเอกสารที่ยืนยันความเป็นเจ้าของ ของหลักทรัพย์ที่จะนำมารีไฟแนนซ์นั่นเองค่ะ จะเป็นเอกสารจากทางธนาคารเดิม และ เป็นเอกสารจากกรมที่ดิน ประกอบไปด้วย

  1. สำเนาเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์หลักประกัน (เช่น โฉนดที่ดิน หรือ หนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด อช.2)
  2. สำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดิน ทด.13 หรือ สัญญาให้ที่ดิน ทด.14 หรือ สัญญาซื้อขายห้องชุด
  3. สำเนาหนังสือสัญญาจำนองที่ดิน หรือ สำเนาสัญญาจำนองห้องชุด
  4. สำเนาสัญญาเงินกู้กับสถาบันการเงินเดิม
  5. สำเนาใบเสร็จผ่อนชำระค่างวดบ้าน หรือ ถ้าผ่อนชำระแบบตัดค่างวดอัตโนมัติ ให้ใช้ รายการเดินบัญชีย้อนหลัง 12 เดือน

จะเห็นได้ว่าการเตรียมเอกสารเพื่อขอรีไฟแนนซ์นั้นไม่แตกต่างจากการยื่นกู้เพื่อซื้อบ้านใหม่เท่าไหร่เลย ซึ่งรายการที่เอกสารด้านบนนั้นเป็นเพียงเอกสารเบื้องต้นเท่านั้น บางธนาคารนั้นอาจจะมีขอเอกสารเพิ่มเติมด้วยค่ะ

undefined

ค่าใช้จ่ายในการรีไฟแนนซ์

สำหรับหัวข้อถัดมานะคะ เราจะมาดูสิ่งที่เรียกว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดเลยก็ว่าได้ นั่นคือ เรื่อง “ค่าใช้จ่าย” นั่นเองค่ะ ซึ่งก่อนที่เราจะตัดสินใจ “รีไฟแนนซ์” นั้น เราต้องรู้ก่อนว่าค่าใช้จ่ายนั้นต้องคำนวณอย่างไร ต้องเสียค่าอะไรบ้าง ซึ่งวันนี้น้อง Genie ก็ได้รวบรวมมาให้เพื่อนๆได้ลองคำนวณดูค่ะ ทั้งนี้เราสามารถแบ่งค่าใช้จ่ายหลักๆได้ 2 ส่วน ดังนี้ค่ะ

2.ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นกับธนาคาร

  • ค่าประเมินหลักทรัพย์

ในส่วนนี้นั้นจะขึ้นอยู่กับพื้นที่บริการ และ ที่ตั้งของหลักประกันค่ะ แต่ส่วนมากจะอยู่ที่ 2,000 – 3,000 บาท แต่ละธนาคารก็จะมีราคาที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งค่าใช้จ่ายตรงนี้เป็นการส่งคนเพื่อออกไปประเมินราคาบ้านและที่ดินว่าปัจจุบันราคาเท่าไหร่เพื่อที่ธนาคารจะได้ประเมินวงเงินกู้ตามราคาหลักทรัพย์นั่นเองค่ะ

  • ค่าประกัน MRTA (ประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อบ้าน)

ต้องบอกก่อนนะว่าค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จะทำประกัน หรือไม่ทำประกันก็ได้ค่ะ ซึ่งหลายท่านอาจจะยังมีประกันนี้จากธนาคารเดิม ก็สามารถแจ้งย้ายสิทธิ์มาธนาคารใหม่ได้เช่นเดียวกันค่ะ หรือเราสามารถที่จะเลือกซื้อประกันนี้กับเจ้าอื่นก็ได้เช่นเดียวกันค่า

  • ค่าธรรมเนียมอื่นๆ

สำหรับค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ขึ้นอยู่กับทางธนาคารค่ะ อาจจะมี หรือ ไม่มีก็ได้ค่ะ

2.ค่าใช้จ่ายที่เป็นไปตามกฎหมายกำหนด

  • ค่าจดจำนอง

ในส่วนของค่าจดจำนองนั้นเราจะต้องเตรียมเงินเพื่อจ่ายให้กับ กรมที่ดิน 1% ของเงินต้นที่เหลือจากธนาคารเดิม ในบางธนาคารจะจัดเป็นโปรโมชั่น “ฟรีค่าจดจำนอง” (แต่เราต้องออกเงินก้อนนั้นก่อน และทางธนาคารจะคืนส่วนนั้นภาย 30 - 45 วัน โดยประมาณ) ยกตัวอย่างเช่น

**เงินต้นที่ยกมาจากธนาคารเดิมอยู่ที่ 2,000,000 บาท เราต้องจ่ายค่าจดจำนอง 2,000,000 x 1% = 20,000 บาทนั่นเองค่ะ**

  • ค่าอากรแสตมป์

ในส่วนนี้คิดเป็น 0.05% ของวงเงิน สามารถคำนวณได้ง่ายๆคือ ล้านละ 500 บาท แต่ไม่เกิน 10,000 บาทนั่นเองค่ะ

  • ค่าประกันอัคคีภัย

ในส่วนนี้จะเป็นประกันบังคับที่ต้องทำอยู่แล้วค่ะ ไม่ว่าจะกู้กับธนาคารเดิม หรือธนาคารใหม่ก็จะเสียค่าประกันอัคคีภัย (ตามกฎหมายแล้วผู้กู้ซื้อคอนโดจะต้องทำประกันอัคคีภัยตลอดอายุสัญญาผ่อน) ซึ้งค่าใช้จ่ายนั้นขึ้นอยู่กับกรมธรรม์ น้อง Genie น้องจีนี่แนะนำให้เลือกความคุ้มครองไม่ต่ำกว่า 70% ค่ะ

โอ้โห นอกจากจะต้องเตรียมเอกสารที่เยอะแยะแล้วก็ต้องมาคำนวณค่าใช้จ่ายในการ “รีไฟแนนซ์” อีกนะคะ ซึ่งตรงนี้น้อง Genie อยากจะแนะนำให้เพื่อนๆคำนวณค่าใช้จ่ายอย่างละเอียดเลยนะคะ ไม่ว่าจะเป็นแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยในอนาคต เพราะว่า MRR จะเป็นตัวเลขที่มีการเคลี่อนไหว ปรับขึ้น - ลง ตลอดเวลาตามนโยบายดอกเบี้ยนั่นเองค่ะ

หากเพื่อนๆคำนวณกันมาอย่างถี่ถ้วนแล้วนั้น เรามาดูกันดีกว่าค่ะว่าขั้นตอนในการยื่นเรื่อง ขอรีไฟแนนซ์นั้นมีอะไรบ้างงง

ขั้นตอนในการยื่นเรื่อง “ขอรีไฟแนนซ์”

สำหรับขั้นตอนในการขอยื่นเรื่อง “ขอรีไฟแนนซ์” นะคะสามารถแบ่งออกได้ดังนี้ค่ะ

1.ตรวจสอบสัญญากู้เดิม

ก่อนที่ทุกคนจะทำการรีไฟแนนซ์คอนโดนั้น ทุกคนจำเป็นจะต้องตรวจสอบสัญญากู้ฉบับเดิมให้เรียบร้อยก่อน เพื่อที่จะได้ทราบว่าสัญญาเดิมนั้นถึงระยะเวลาที่สามารถรีไฟแนนซ์ได้หรือยัง ซึ่งโดยทั่วไปแล้วทางธนาคารจะกำหนดไว้ที่ระยะเวลา 3 – 5 ปีค่ะ

โดยการยื่นเรื่อง ขอรีไฟแนนซ์นั้นควรทำอย่างน้อย 1 – 2 เดือนก่อนที่จะครบระยะเวลาผ่อน 3 ปี เนื่องจากกระบวนการต่างๆที่ทางธนาคารจะต้องตรวจสอบนั้น ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณา ประเมินราคา และทำเรื่องอนุมัติสินเชื่อซึ่งอาจจะใช้เวลานานพอสมควรเลยค่ะ

2.เลือกธนาคารที่คิดว่าใช่ในการรีไฟแนนซ์

อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้นนะคะ ในการเลือกธนาคารแห่งใหม่นั้น เราจำเป็นที่จะต้องศึกษาดอกเบี้ยและเปรียบเทียบแต่ละโปรโมชันดีๆ เพื่อที่จะให้ได้ความคุ้มค่าที่สุด เพราะว่าโปรโมชั่นของแต่ละธนาคารนั้นจะยั่วยวนให้เราอยากเข้าไปใช้บริการนั่นเองค่ะ

3.เตรียมเอกสาร

ในขั้นตอนนี้นะคะให้ทุกคนเตรียมเอกสารส่วนบุคคล เอกสารทางการเงิน และเอกสารที่จะนำมาใช้เพื่อเป็นหลักประกัน (นั่นก็คือบ้านที่เพื่อนๆจะนำมารีไฟแนนซ์นั่นเองค่ะ *เพื่อนๆสามารถย้อนไปอ่านอย่างละเอียดจากด้านบนนะคะ*

4.ค่าใช้จ่ายในการรีไฟแนนซ์

แม้การรีไฟแนนซ์จะช่วยเพื่อให้ประหยัดดอกเบี้ยไปได้มากโข แต่เพื่อนๆอย่าลืมที่จะต้องคำนึงถึงค่าธรรมเนียมที่จะตามมาด้วยนะคะ ซึ่งค่าใช้จ่ายจะประกอบไปด้วย

  • ค่าประเมินราคา (บางธนาคารจะจัดโปรโมชั่น ฟรีค่าประเมินด้วยค่ะ)
  • ค่าจดจำนอง 1% ของวงเงินกู้ (บางธนาคารจะจัดโปรโมชั่น ฟรีค่าจดจำนองด้วยค่ะ)
  • ค่าอากรแสตมป์ 0.05% ของวงเงินกู้
  • ค่าธรรมเนียมอื่นๆของธนาคาร เช่น ค่าธรรมเนียมสินเชื่อ เป็นต้น
  • ค่าประกันอัคคีภัย ซึ่งในส่วนนี้หากเราไม่ทำเรื่อง “รีไฟแนนซ์” ก็จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายตรงนี้ทุกๆ 1 – 3 ปีตามกฎหมายอยู่แล้วค่ะ.

5.ยื่นขออนุมัติรีไฟแนนซ์กับธนาคารใหม่

เมื่อเตรียมทั้งเอกสารและค่าใช้จ่ายไว้เรียบร้อยแล้วนั้น เราสามารถส่งเอกสารไปที่ธนาคารใหม่ได้เลยค่ะ ซึ่งหากเอกสารครบ และ ผ่านแล้วนั้น ทางธนาคารจะส่งคนมาประเมินราคาของหลักประกัน และจะใช้เวลาพิจารณาประมาณ 2 – 4 สัปดาห์ค่ะ

6.สอบถามยอดหนี้คงค้าง และ นัดวันไถ่ถอนจากธนาคารเก่า

เมื่อได้รับผลอนุมัติจากธนาคารใหม่เรียบร้อยแล้ว ทางธนาคารจะให้เราดำเนินการสอบถามยอดหนี้คงค้าง และ นัดวันไถ่ถอนจากธนาคารเก่า เพื่อที่ทั้ง 2 ธนาคารนั้นจะสามารถโอนเพื่อปิดหนี้ให้กันได้อย่างถูกต้อง

7.ทำสัญญา และ จดจำนองที่ดิน

เมื่อทั้ง 2 ธนาคารเคลียร์ยอดหนี้ชำระเรียบร้อยแล้ว เราต้องไปเซ็นสัญญา พร้อมกับทำสัญญาจำนองที่กรมที่ดิน และเพื่อความสะดวกของทั้ง 2 ฝ่าย ขั้นตอนนี้สามารถทำได้ภายในวันเดียวกันเลยค่ะ

ตารางอัปเดตดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์แต่ละธนาคาร ประจำเดือน มีนาคม 2565

undefined

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ กับขั้นตอนในการยื่น “ขอรีไฟแนนซ์คอนโด - บ้าน” ที่นำมาฝากกันในวันนี้ส่วนตัวน้อง Genie มองว่าในการรีไฟแนนซ์นั้นเราควรทำทุกๆ 3 ปีเพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของเรา แต่อย่างที่บอกค่ะว่า เราจำเป็นที่จะต้องคำนวณเรื่องค่าใช้จ่ายให้ดีเลย เพราะไม่เช่นนั้นหากเราทำการรีไฟแนนซ์ไปแล้ว แต่ผลสุดท้ายประหยัดดอกเบี้ยไปแค่ไม่กี่พันบาท แถมยังต้องมานั่งเสียค่าธรรมเนียมในการยื่นเรื่องใหม่แบบนี้ไม่คุ้มกันนะคะ

และห้ามลืมนะคะว่าข้อเสนออัตราดอกเบี้ย MRR นั้นเป็นแบบลอยตัวมีโอกาสที่จะปรับขึ้น - ลงอยู่ตลอดเวลาตามสภาพเศฐษกิจ ยังไงอยากให้เตรียมตัวเตรียมใจในการรับมือข้อนี้ด้วยนะคะ น้อง Genie หวังว่าบทความนี้จะเป็นบทความที่สามารถบอกให้ทุกคนเข้าใจในเรื่องการรีไฟแนนซ์ไม่มากก็น้อยนะคะ

เพื่อนๆทุกท่านสามารถติดตามผลงานบทความ และ คอนเท้นต์ ที่เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ และ อสังหาริมทรัพย์ ของน้อง Genie และเพื่อนๆนักเขียนของเราได้ทาง

Facebook : Genie-Property.com

Website : Genie-Property.com

ขอบคุณข้อมูลจาก

krungsri

refinn

moneybuffalo