“ภาษีมรดก” คืออะไร? ใครต้องจ่ายบ้าง??

สร้างเมื่อ Oct 19, 2022

น้อง Genie เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะรู้จักกับ “ภาษีมรดก” ซึ่งต้องบอกว่าหากเราไม่รีบทำความเข้าใจ และ วางแผนตั้งแต่เนิ่นๆ เราอาจจะต้องเสียภาษีซ้ำซ้อนก็ได้นะคะ เพราะฉะนั้นวันนี้น้อง Genie เตรียมสรุปข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหลักการเก็บภาษีทั้ง 3 รูปแบบ มรดกที่ต้องเสียภาษีมีอะไรบ้าง และอื่นๆ อีกมากมาย จะรออยู่ใย ไปชมพร้อมๆ กันเลยค่าาา

1. ภาษีมรดกคืออะไร??

undefined

“ภาษีมรดก (Inheritance Tax)” คือ ภาษีที่เรียกเก็บโดยสรรพากร จากผู้ที่ได้รับมรดกแต่ละรายซึ่งต้องมีมูลค่าของมรดกเกิน 100 ล้านบาทขึ้นไป โดยผู้รับมรดกจะต้องเป็นคนเสียภาษี ซึ่งจะมีการจัดเก็บในอัตรา 5% - 10% สำหรับมรดกในส่วนที่เกิน 100 ล้านบาทค่ะ

ซึ่งทรัพย์สินมรดกที่ต้องเสียภาษีจะแบ่งตามที่กฎหมายกำหนด คือ "สังหาริมทรัพย์" และ

"อสังหาริมทรัพย์" โดยจะสามารถแบ่งออกได้ 5 ประเภทดังนี้ค่ะ

1. อสังหาริมทรัพย์

ได้แก่ บ้าน ที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างต่างๆ โดยรวมในประเทศไทย และ ต่างประเทศด้วยค่ะ

2. หลักทรัพย์ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ได้แก่ หุ้น หุ้นกู้ หน่วยลงทุน ตราสารหนี้ และตราสารอนุพันธ์ต่างๆ ไม่ว่าจะออกโดยนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย หรือในต่างประเทศนั่นเองค่ะ

3. เงินฝาก

หรือ เงินอื่นใดที่มีลักษณะอย่างเดียวกัน ทั้งที่อยู่ในประเทศไทยและต่างประเทศค่ะ

4. ยานพาหนะ ที่มีหลักฐานทางทะเบียน

ได้แก่ รถยนต์ เรือ รถจักรยานยนต์ ทั้งที่จดทะเบียนในประเทศไทยและต่างประเทศค่ะ

5. ทรัพย์สินทางการเงิน

ที่กำหนดเพิ่มขึ้นตามกฎหมายในอนาคตค่ะ

สำหรับอัตราในการเก็บภาษี “ภาษีมรดก” นั้นจะจัดเก็บภาษีในอัตราที่คงที่ค่ะ และจะสามารถแบ่งออกได้ดังนี้ค่ะ

  • สำหรับบุคคลภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้องกับทางผู้ให้มรดก จะต้องเสียภาษีในอัตราคงที่ 10% ค่ะ
  • สำหรับบุคคลที่รับมรดกเป็นบุพการี เช่น พ่อ แม่ ปู่ย่า ตายาย หรือ ผู้สืบสันดาน เช่น ลูก หลาน เหลน ะได้รับการลดหย่อนอัตราภาษีคงที่ เหลือเพียงแค่ 5% เท่านั้น ค่ะ
  • สำหรับการยกมรดกให้กับ สามี หรือ ภรรยาที่ได้มีการจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมายเท่านั้น จะไม่ต้องเสียภาษีมรดก ค่ะ
  • และหากมีการยกมรดกให้กับหน่วยงานรัฐ หรือ ส่วนของสาธารณะ มรดกนั้น จะได้รับการยกเว้นภาษีมรดก ด้วยเช่นเดียวกันค่ะ

นอกจาก “ภาษีมรดก” แล้วนั้น ยังมี 2 ภาษีที่เพื่อนๆ ต้องทำความรู้จัก ดังนี้ค่ะ

undefined

“ภาษีกองมรดก (Estate tax)” คือ การจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สินของเจ้าของมรดกที่เสียชีวิตทั้งหมด เพื่อนำมาคำนวณ และ เสียภาษี ก่อนที่นำไปแบ่งให้กับทายาทค่ะ ซึ่งวิธีการคำนวณ “ภาษีกองมรดก” นั้นจะเหมือนกับการคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาค่ะ โดยผู้ที่มีสิทธิ์รับมรดกทุกคน จะถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราที่เท่ากัน ไม่ว่าจะได้รับมรดกเป็นจำนวนเท่าไร และเมื่อมรดกทั้งหมดถูกชำระภาษีเรียบร้อยแล้ว สินทรัพย์ที่เหลือจะถูกนำมาแบ่งให้กับทายาทเพื่อคำนวณการเสีย “ภาษีมรดก” ต่อไปหากเข้าเงื่อนไขนั้นเองค่ะ

โดยการจัดเก็บภาษีในรูปแบบนี้ เป็นทางออกที่สามารถทำให้ภาครัฐสามารถจัดเก็บภาษีได้จำนวนมากกว่าการจัดเก็บภาษีมรดกค่ะ และ การจัดเก็บภาษีกองมรดกนั้นจะมีการประเมิน และ เก็บเพียงครั้งเดียวเท่านั้น จึงเรียกได้ว่าสะดวกต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ และ ประหยัดค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บอีกด้วยค่ะ

แต่ในแง่ของผู้ที่รับมรดกนั้น มองว่าการจัดเก็บ “ภาษีกองมรดก” นั้นทำให้ผู้รับมรดกต้องเสียภาษีเท่ากันทุกคนโดยไม่ได้คำนึงถึงสัดส่วนมรดกที่ทุกคนได้รับ และหากส่วนของมรดกเข้าเงื่อนไขที่จะต้องเสีย “ภาษีมรดก” ก็จะเท่ากับว่าผู้ที่ได้รับมรดกจะต้องเสียภาษีถึง 2 รอบนั่นเองค่ะ

undefined

“ภาษีการรับให้ (Gift Tax)” คือ ภาษีที่ถูกจัดเก็บ ในกรณีที่เจ้าของมรดกยังมีชีวิตอยู่ และได้ทำการโอนทรัพย์สินให้แก่บุคคลอื่น หรือ ทายาทนั่นเองค่ะ ทั้งนี้็เพิ่อที่จะหลีกเลี่ยง “ภาษีมรดก” นั่นเองค่ะ โดยปกติแล้วนั้นเจ้าของมรดกจะทำการโอนทรัพย์สินให้บุคคลอื่น หรือ ทายาทก่อนเสียชีวิตประมาณ 5 - 7 ปีค่ะ

โดยผู้ที่ต้องเสียภาษีการรับให้มีดังนี้ค่ะ

  • บุคคลธรรมดาที่ได้รับเงินได้จากการอุปการะหรือจากการให้โดยเสน่หาจากบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส
  • บุคคลธรรมดาที่ได้รับเงินได้จากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา หรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธี หรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี จากบุคคลอื่นซึ่งมิใช่บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส
  • บิดามารดาที่เป็นผู้โอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งไม่รวมถึงบุตรบุญธรรม

ซึ่งผู้ให้มรดก และ ผู้รับมรดก จะต้องเสียภาษีในรูปแบบของ “ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” สำหรับอัตราในการเสียภาษีนั้นจะจัดเก็บในอัตราคงที่ 5% ดังนี้ค่ะ

  • ผู้รับมรดกที่ไม่ใช่ บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส จะเสียภาษีเฉพาะส่วนที่มีมูลค่าเงินเกิน 10 ล้านบาท
  • ผู้รับเป็นบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส จะเสียภาษีเฉพาะส่วนที่มีมูลค่าเงินเกิน 20 ล้านบาท

2. บุคคลใดบ้างที่ต้องเสียภาษีมรดก

undefined

สำหรับผู้ที่มีหน้าที่ที่จะต้องเสีย “ภาษีมรดก” นะคะ คือผู้ที่ได้รับมรดกไม่ว่าจะเป็น ทายาท หรือบุคคลอื่น หากมรดกที่ได้รับมามีมูลค่าของทรัพย์สินมรดกทั้งหมดเกิน 100 ล้านบาท บุคคลดังกล่าวจะต้องเสียภาษีเฉพาะส่วนที่เกิน 100 ล้านบาทค่ะ ซึ่งสามารถแบ่งได้ 3 ประเภทดังนี้ค่ะ

1. บุคคลธรรมดา

  • เป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย
  • เป็นบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย แต่มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย
  • เป็นบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย และ ไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย แต่ได้รับมรดกที่อยู่ในประเทศไทย (ในกรณีนี้จะเสียภาษีเฉพาะมรดกที่อยู่ในประเทศไทยเท่านั้น)

2. นิติบุคคลที่มีสัญชาติไทย

ผู้รับมรดกที่เป็นนิติบุคคล เช่น บริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด หากอยู่ในเกณฑ์ดังต่อไปนี้ ก็จะต้องเสียภาษีมรดกเช่นกัน

  • เป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย
  • นิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายในประเทศไทย
  • เป็นนิติบุคคลที่ผู้มีสัญชาติไทย ถือหุ้นเกินร้อยละ 50 ของทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วในขณะมีสิทธิได้รับมรดก
  • เป็นนิติบุคคลที่ผู้มีสัญชาติไทย เป็นผู้มีอำนาจบริหารกิจการเกินกึ่งหนึ่งของคณะบุคคลซึ่งมีอำนาจบริหารกิจการทั้งหมด

3. นิติบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย

  • แต่ได้รับมรดกอันเป็นทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย ให้เสียภาษีจากทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย

3. วิธีการคำนวณ “ภาษีมรดก”

undefined

ต้องบอกก่อนนะคะว่าน้อง Genie นั้นไม่ค่อยชอบตัวเลขสักเท่าไหร่ และเชื่อว่าเพื่อนๆ หลายคนก็เป็นเหมือนกัน คริคริ >< แต่สำหรับ การคำนวณ “ภาษีมรดก” นั้น หลักๆ แล้วไม่มีความซับซ้อนอย่างที่เราคิดเลยค่ะ และเพื่อรักษาผลประโยชน์ของเรานะคะวันนี้น้อง Genie จะมาบอกวิธีคำนวณง่ายๆ กันค่ะ มาเริ่มกันเลยย

1. การคำนวณภาษีมรดกในอัตราคงที่ 5% สำหรับบุพการีและผู้สืบสันดาน

ขั้นตอนที่ 1 : คำนวณหามูลค่ามรดกที่ต้องเสียภาษี

ใช้สูตร มูลค่ามรดกสุทธิ – 100 ล้านบาท* = มูลค่ามรดกที่ต้องเสียภาษี

*มูลค่ามรดกที่ไม่ต้องเสียภาษีตาม พ.ร.บ. ภาษีการรับมรดก*

ตัวอย่าง :

นาย A ได้รับมรดกจากผู้เป็นพ่อ เป็นที่ดินมูลค่าสุทธิ 190 ล้านบาท โดยที่พ่อของนาย A ไม่มีหนี้สินใดๆ มูลค่าของมรดกที่ต้องเสียภาษีคือ

190,000,000 - 100,000,000 = 90,000,000 บาท

ขั้นตอนที่ 2 : คำนวณหาภาษีมรดก

ใช้สูตร มูลค่ามรดกที่ต้องเสียภาษี x อัตราภาษีคงที่ 5% = ภาษีมรดก

ตัวอย่าง :

จากมูลค่ามรดกที่นาย A จะต้องเสียภาษีคือ 90 ล้านบาท และด้วยความที่นาย A เป็นผู้สืบสันดานของเจ้าของมรดก ดังนั้นนาย A จะเสียภาษีในอัตราคงที่ 5% คือ

90,000,000 x 5% = 4,500,000 บาท

ดังนั้นจะสามารถสรุปได้ว่า นาย A จะต้อง จ่ายภาษีมรดกเป็นจำนวนเงิน 4,500,000 บาทนั่นเองค่ะ

2. การคำนวณภาษีมรดกในอัตราคงที่ 10% สำหรับบุคคลทั่วไปที่ไม่เกี่ยวข้องทางสายเลือด

ขั้นตอนที่ 1 : คำนวณหามูลค่ามรดกที่ต้องเสียภาษี

ใช้สูตร มูลค่ามรดกสุทธิ – 100 ล้านบาท* = มูลค่ามรดกที่ต้องเสียภาษี

*มูลค่ามรดกที่ไม่ต้องเสียภาษีตาม พ.ร.บ. ภาษีการรับมรดก*

ตัวอย่าง :

นางสาว B ซึ่งไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับเจ้าของมรดกเลย แต่ได้รับมรดกเป็นที่ดินมูลค่าสุทธิ 170 ล้านบาท ซึ่งเจ้าของมรดกไม่มีหนี้สินใดๆ เลย มูลค่าของมรดกที่ต้องเสียภาษีคือ

170,000,000 - 100,000,000 = 70,000,000 บาท

ขั้นตอนที่ 2 : คำนวณหาภาษีมรดก

ใช้สูตร มูลค่ามรดกที่ต้องเสียภาษี x อัตราภาษีคงที่ 10% = ภาษีมรดก

จากมูลค่ามรดกที่นางสาว B จะต้องเสียภาษีคือ 70 ล้านบาท แต่ด้วยความที่นางสาว B ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับเจ้าของมรดก ดังนั้นนางสาว B จะเสียภาษีในอัตราคงที่ 10% คือ

70,000,000 x 10% = 7,000,000 บาท

ดังนั้นจะสามารถสรุปได้ว่านางสาว B จะต้อง จ่ายภาษีมรดกเป็นจำนวนเงิน 7,000,000 บาทนั่นเองค่ะ

และสำหรับผู้ที่ได้รับมรดกที่มีมูลค่าสุทธิเกิน 100 ล้านบาท จะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีการรับมรดก (ภ.ม.60) และจะต้องชำระภาษีภายใน 150 วัน โดยเริ่มนับจากวันที่ได้รับมรดกค่ะ

ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับมรดกสามารถเลือกผ่อนจ่ายภาษีมรดกได้สูงสุดถึง 5 ปี โดยมีเงื่อนไขดังนี้ค่ะ

  • หากผู้ได้รับมรดกเลือกจ่ายภาษีแบบผ่อนชำระ หากภายใน 2 ปีสามารถจ่ายภาษีได้ครบตามจำนวน จะได้รับการยกเว้น ไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม
  • แต่หากผู้ได้รับมรดกมีการผ่อนชำระมากว่า 2 ปี แต่ไม่เกิน 5 ปี จะต้อง เสียเงินเพิ่มร้อยละ 0.50 ต่อเดือน
  • การผ่อนชำระภาษี สามารถผ่อนชำระภาษีให้เสร็จสิ้นก่อนกำหนดเวลาที่ขอผ่อนชำระภาษีได้
  • กรณีผู้ผ่อนชำระภาษี ผิดนัดชำระภาษีงวดใดงวดหนึ่ง จะส่งผลให้ผู้ผ่อนชำระภาษีหมดสิทธิการผ่อนชำระภาษี และต้องชำระภาษีที่ค้างอยู่ทั้งจำนวนพร้อมเงินเพิ่ม

4. บทลงโทษหากหลีกเลี่ยงการเสีย “ภาษีมรดก”

undefined

บทลงโทษสำหรับผู้ที่จงใจหลีกเลี่ยงที่จะไม่เสีย “ภาษีมรดก” จะต้องได้รับโทษดังนี้ค่ะ

1. บทลงโทษสำหรับบุคคลธรรมดา

  • หากไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษี (ภ.ม.60) โดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท
  • หากไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมิน หรือไม่ยอมตอบคำถามของเจ้าพนักงานประเมิน หรือของประธานคณะกรรมการอุทธรณ์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือนหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • หากทำลาย ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปซึ่งทรัพย์สินที่ถูกยึด หรืออายัด ให้แก่บุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 400,000 บาท
  • หากจงใจยื่นข้อความเท็จ หรือให้ถ้อยคำเท็จ หรือตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ หรือนำพยานหลักฐานเท็จมาแสดงเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี หรือให้ความเท็จ โดยเจตนาละเลย โดยฉ้อโกงหรือใช้อุบาย โดยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใด หลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษี หรือแนะนำหรือสนับสนุนให้บุคคลอื่นกระทำการดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2. บทลงโทษสำหรับนิติบุคคล

หากผู้กระทำความผิดเป็นนิติบุคคล ให้กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือผู้แทนของนิติบุคคล ต้องรับโทษ โดยถือว่ามีส่วนร่วมในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น

เป็นอย่างไรบ้างคะกับข้อมูลของ “ภาษีมรดก” ที่น้อง Genie ได้นำมาเสนอกันได้วันนี้ ซึ่งต้องบอกก่อนเลยนะคะ ว่าเรื่องของภาษีหลายคนอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว และไม่ค่อยทำความเข้าใจ เมื่อถึงเวลาที่ต้องทำธุรกรรม หรือต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องภาษีจริงๆ นั้นอาจจะพลาดท่า เสียที ได้เลยนะคะ

และวันนี้ที่น้อง Genie ยกเรื่อง “ภาษีมรดก” ขึ้นมาอธิบายให้เพื่อนๆ ได้ศึกษา และ ทำความเข้าใจก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะทำให้เพื่อนๆ ได้รับความรู้ เพื่อนำไปปรับใช้ และวางแพลนเรื่องมรดก หรือ เรื่องพินัยกรรมได้ไม่มากก็น้อยนะคะ

สุดท้ายนี้หากเพื่อนๆ คนไหนที่กำลังมองหาบ้าน หรือคอนโดที่สร้างเสร็จพร้อมตกแต่ง และสามารถเข้าอยู่ได้เลยไม่ควรพลาดเว็บไซต์นี้ค่ะ www.genie-property.com ตัวช่วยง่ายๆ ในรูปแบบ VR Tour ที่จะทำให้เพื่อนๆ ประหยัดเวลา แถมได้เห็นห้องจริงๆ โดยที่ไม่ต้องเสียเวลาออกไปดูหลายๆ ที่ เว็บนี้ตอบโจทย์เพื่อนๆ แน่นอนค่ะ

และเพื่อเป็นกำลังใจให้น้อง Genie เพื่อนๆ สามารถเข้ามาพูดคุย หรือกดติดตามข่าวสารดีๆ เกี่ยวกับแวดวงอสังหาฯ และ ไลฟ์สไตล์กันได้ผ่านทางช่องทางด้านล่างนี้เลยค่าาา

LINE: @genie-property.com

FACEBOOK: Genie-Property.com

EMAIL: sales@genie-property.com

WEBSITE : www.genie-property.com

CALL CENTER: 093-232-9888,064-931-8666

แนะนำบทความที่น่าสนใจ

"ภาษีลาภลอย" คืออะไร? กระทบกับอสังหาฯแค่ไหนนะ!

ผ่อนคอนโด/บ้านไม่ไหว อย่าเพิ่งท้อ!! เปิด 13 วิธีขอประนอมหนี้กับธนาคาร

เจาะลึกข้อดี-ข้อเสีย คอนโดใหม่ VS คอนโดมือสอง แบบใหม่น่าลงทุน!!

ขอบคุณข้อมูลจาก

กรมสรรพากร

Bangkokbiznews

ITAX