สุดยอดต้นแบบ บ้านลอยน้ำ ของไม่พัง ไม่เปลืองตังค์ซ่อมบ้าน

สร้างเมื่อ Oct 5, 2021

บ้านลอยน้ำ เป็นอสังหาฯ ที่น่าจะตอบโจทย์และแก้ไขปัญหาอุทกภัยให้กับมนุษย์อย่างเราๆได้มากในเวลานี้ โดยเฉพาะคนไทย เพราะหากย้อนรอยน้ำท่วมครั้งใหญ่ ในรอบ 100 ปี เมืองไทยผ่านประสบการณ์ปัญหาน้ำท่วมบ่อยครั้งมากกว่า 7 หนแล้วค่ะ ปัจจุบันคนไทยหลายจังหวัดต้องนั่งปวด Head กับน้ำท่วมใหญ่อีกครั้ง ไม่ว่าจะน้ำรอระบายหรือน้ำท่วมขังระดับสูงมากก็ตาม ล้วนทำให้รถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ ทรัพย์สินมีค่าต่างๆ เสียหาย ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต สุขอนามัย ไปจนถึงการคร่าชีวิตของสมาชิกครอบครัวไปนั่นเองค่ะ

เนื่องจาก ประเทศไทยอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร เป็นพื้นที่ร้อนชื้น และมีภูมิประเทศที่มีแม่น้ำใหญ่น้อยมากกว่า 20 สาย เช่น แม่น้ำโขง ปิง วัง ยม น่าน เจ้าพระยา ป่าสัก ท่าจีน บางปะกง ตาปี เป็นต้น และหลายจังหวัดตอนใต้ก็มีทะเลขนาบข้างทั้งซ้ายขวาอีก จึงหนีไม่พ้นที่หลายจังหวัดจะต้องเจอปัญหาพายุฝนกระหน่ำ พัดผ่าน ตามธรรมชาติอยู่บ่อยครั้ง และปีไหนมีพายุลูกใหญ่พัดผ่านประเทศแล้วหล่ะก็ ต้องได้เจอมวลน้องน้ำเข้าล้นทะลักเข้าบ้านเรือนอย่างแน่นอน🏊🚣

ตามรอยภูมิปัญญาดั้งเดิมของคนไทยรุ่นเก่าก่อน เขาจะนิยมสร้างบ้านเรือนที่มีใต้ถุนสูง มีประโยชน์ทั้ง ไว้หลบร้อน พักผ่อนยามบ่าย ใช้เป็นที่รับแขก ทำงานหัตถกรรม หรือเลี้ยงสัตว์ หนีน้ำท่วมได้ คือเมื่อเวลาเกิดน้ำท่วมสูงก็ยังพอเอาตัวรอด ขนข้าวของหนีน้ำอาศัยบนเรือนกัน ส่วนคนที่อยูริมแม่น้ำจะนิยมสร้าง เรือนแพ เพื่ออยู่อาศัยนั่นเองค่ะ

แต่กาลเวลาเปลี่ยน ค่านิยม กระแสวัฒนธรรมการสร้างบ้านแบบตะวันตกเริ่มเข้ามามีอิทธิพลต่อคนไทยมากขึ้น จึงส่งผลให้การออกแบบบ้านที่พักอาศัยของคนในชุมชนเมืองนั้นกลายเป็น บ้านชั้นเดียว, 2 ชั้น, ตึกพานิชย์ ที่ก่ออิฐฉาบปูนปิดทึบ เพราะการใช้ชีวิตที่มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น ความต้องการใช้ประโยชน์พื้นที่ใช้สอยให้คุ้มค่ามากที่สุด จากห้องรับแขกในอดีตที่ใช้ลานใต้ถุน แคร่ไม้ รับลมธรรมชาติมาเปลี่ยนเป็น ทีวี โซฟานุ่ม แอร์ปรับอากาศแทน

หลายคน ได้รับบทเรียนน้ำท่วมเข้าบ้านเรือนบ่อยครั้ง จึงนำแนวทรงบ้านไทยใต้ถุนสูงไปประยุกต์ใช้ในการสร้างบ้านกัน บ้างก็ประดิษฐ์ ต่อเติมบ้านแบบต่างๆ เพื่อป้องกันน้ำท่วม บ้างก็กำลังมองหานวัตกรรมการสร้างบ้านลอยน้ำจากวัสดุต่างๆ กันอยู่ เพราะ Genie เข้าใจคุณ เราจึงรวบรวมไอเดีย แบบโครงสร้างบ้านลอยน้ำจากแหล่งต่างๆ ที่น่าสนใจมาฝากกันค่ะ ส่วนจะเป็นยังไงบ้างนั้นไปดูกันเลย

สุดยอดต้นแบบ บ้านลอยน้ำ ป้องกันน้ำท่วม มีแบบไหนบ้าง?

  1. 3D-printed floating house Protozoa ( Czech )
  2. Blooming Bamboo Home ( Vietnam )
  3. Amphibious House ( England )
  4. Flood Resistant System ( Thailand )
undefined

3D-printed floating house Protozoa

บ้านลอยน้ำจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ หรือบ้าน 3 มิติ โพรโตซัวหลังแรกของโลกสร้างขึ้นในกรุงเชคค่ะ ใช้ระยะเวลาสร้างเร็วมาก เกิดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อมน้อยมากๆ ประหยัดงบก่อสร้างและทนทานอีกด้วยค่ะ

เจ้าของโครงการ : ทีมประติมากรชาวเชคและสถาปนิก

ที่ตั้ง : แม่น้ำ Vltava ในกรุงปราก

วัสดุที่ใช้ : คอนกรีตชนิดพิเศษ 17 ตัน

แนวคิด : แรงบันดาลใจจากรูปทรงจากอินทรียสารและโปรโตซัว สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวขนาดเล็ก

ลักษณะบ้าน : ขนาด 43 ตารางเมตร 1 ห้องนอน 1 ห้องน้ำ ห้องครัวและห้องนั่งเล่น และสามารถถอดประกอบได้ตามห้อง มีต้นไม้ต่างๆ ครอบคลุมตัวบ้านหลังคา กำแพงไว้ เสมือนสวนลอยน้ำได้ค่ะ

ระยะเวลาก่อสร้าง : ปรินท์ได้เสร็จสิ้นภายใน 2 วัน

กระบวนการก่อสร้าง : ใช้แขนกลที่มีหัวฉีดเส้นคอนกรีตออกมาแล้วทับซ้อนกันหลายๆชั้น เมื่อสร้างเสร็จต้องนำโมดุลคอนกรีตห้องนอนและห้องน้ำติดเข้ากับแกนไม้ ตัวบ้านจะมีหน้าต่างขนาดใหญ่และติดหลังคาไม้ ซึ่งบ้านหลังนี้ผลิตแล้วเสร็จทั้งหลังแล้วจะใช้เวลารอให้แห้งอีก 28 วัน ขนย้ายไปยังอีกที่ด้วยรถบบรทุกขนย้าย จากนั้นจะติดตั้งกับโป๊ะ

ราคาต่อหลัง : ต้นแบบ ( สิงหาคม พ.ศ. 2020 ) ยังมีราคาที่สูงมากค่ะ รุ่นที่ 2 น่าจะมีราคาราวๆ 4 ล้านบาท และคาดว่า รุ่นที่ 3 อยู่ราวๆ 2 ล้านบาท

จุดเด่น :

  • เป็นการสร้างบ้านพิมพ์ 3 มิติลอยได้ที่ผลิตเป็นหลังแรกของโลก
  • ระยะเวลาสร้างรวดเร็วกว่าก่อสร้างแบบปกติถึง 7 เท่า
  • ต้นทุนการก่อสร้าง 50% และลดการคา์บอนไดออกไซต์ด้วย
  • เนื่องจากตัวบ้านใช้วัสดุคอนกรีตชนิดพิเศษและตัวบ้านมีมุมโค้งเว้าเยอะ หลังทดลองแรงสั่นสะเทือนแล้วพบว่า กำแพงสามารถรับแรงกระแทกได้ถึง 50 ตัน เลยทีเดียว
  • อนาคตมีแนวโน้มราคาถูกลงเพราะต้นทุน แรงงานการผลิตน้อยลงมาก
  • ดีต่อสิ่งแวดล้อมเพราะไม่เกิดมลภาวะทางเสียง ฝุ่นละออง เหมือนการก่อสร้างบ้านแบบปกติ

สมาคมการก่อสร้าง Stavební spořitelna Česká spořitelna (Buřinka) ได้ทำการสำรวจแล้วพบว่าเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติได้รับการตอบรับอย่างดีจากสาธารณชน เพราะ ลูกค้ามากกว่าครึ่งของเขาสามารถจินตนาการถึงการอยู่ในบ้านที่พิมพ์ 3 มิติ ไม่ว่าจะเป็นทรงกลมหรือเหลี่ยม มีเพียง 1 ใน 4 ที่คิดว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นและใช้งานจริงได้ และมีคนอีกส่วนนึงที่ไม่แสดงความคิดเห็น

ทั้งสถาปนิกและทีมงาน เชื่อว่าโครงการนี้จะสร้างตำนานในอุตสาหกรรมการพิมพ์ 3 มิติ และประสบความสำเร็จแบบก้าวกระโดดมาก แต่ทั้งนี้ทีมงานก็ยังต้องใช้เวลาในการเผยแพร่เพื่อให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้นต่อไปค่ะ

undefined

Blooming Bamboo Home

ใครเห็นก็ต้องบอกว่าบ้านสร้างจากไม้ไผ่ที่เมืองไทยก็มีนะ แต่ที่ Genie ยกมานำเสนอ เพราะว่าแบบบ้านไผ่หลังนี้มีฟังก์ชันการใช้งานภายในและโดยรอบน่าสนใจมากค่ะ ดูเรียบง่ายแต่สวยงาม ใช้เวลาก่อสร้างรวดเร็ว เป็นวัสดุธรรมชาติที่หาได้ในไทยและใช้งบประมาณก่อสร้างไม่สูงมาก นับเป็นต้นแบบบ้านลอยน้ำได้ที่ทุกคนสามารถสร้างตามได้ทันทีเพื่อไว้ใช้งานตอนน้ำท่วมค่ะ

เจ้าของโครงการ : บริษัท H&P Architects ( สถาปนิก Doan Thanh Ha, Tran Ngoc Phuong และทีมงาน )

ที่ตั้ง : เวียดนาม

วัสดุที่ใช้ : ไม้ไผ่

แนวคิด : Blooming Bamboo Home นับว่าเป็นการใช้เทคโนโลยีพื้นถิ่นสร้างที่อยู่อาศัยที่ทนต่อน้ำท่วมที่เรียบง่ายและสร้างสรรค์

ลักษณะบ้าน : ขนาด 3.3 x 6.6 เมตร ( ประมาณ 44 ตร.ม.) ภายในออกแบบด้วยไม้ไผ่ทั้งหมด เช่น เตียง โต๊ะ เก้าอี้ ลานอเนกประสงค์ และมีชั้นลอยใต้หลังตา บานประตู หลังคาสามารถเปิด-ปิดรับลมได้

ระยะเวลาก่อสร้าง : 25 วัน

กระบวนการก่อสร้าง : ตัวเรือนยกสูงจากพื้นดิน ใช้ลำไม่ไผ่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 8-10 เซนติเมตร ยึดติดกันด้วยสลักเกลียว มัดและใช้วัสดุอื่นๆมาช่วยยึดเพื่อเพิ่มความแข็งแรง ทำให้บ้านมีความทนทานมากพอที่จะต้านระดับน้ำท่วมถึง 1.5 เมตรได้ ซึ่งตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นการทดสอบความแข็งแรงในระดับน้ำ 3 เมตร

สามารถดูภาพตัวอย่างแบบบ้านนี้เพิ่มเติมได้ที่ archdaily

undefined

ราคาต่อหลัง : 2,500 ดอลล่าร์ หรือประมาณ 80,000 บาท

จุดเด่น :

  • วัสดุธรรมชาติที่ประเทศไทยหาได้ทั่วไป
  • รักษาระบบนิเวศน์ มีความสวยงามกลมกลืนกับธรรมชาติอย่างลงตัว
  • มีดีไซน์ออกแบบแปลนและโครงสร้างที่ลงตัว สวยงาม
  • ต้นทุนก่อสร้างไม่สูง
  • ก่อสร้างอยู่อาศัยได้ทั้งบนที่ราบและเมื่อเกิดน้ำท่วมสูงสามารถต้านระดับน้ำได้สูงมากถึง 1.5 เมตร และในอนาคตอาจพัฒนาให้ต้านทานระดับน้ำได้ถึง 3 เมตร

ถ้าคนมีที่ดินหรือพื้นที่บ้านกว้างขวาง การมีบ้านไผ่ลอยน้ำไว้ นอนตากอากาศเล่น แถมใช้หนีน้ำท่วมได้ก็น่าจะดีกว่าต้องลอยคอแช่น้ำหรือใช้ชีวิตบนหลังคาบ้านรอน้ำลดระดับ แต่บ้านไผ่ลอยน้ำ มีข้อจำกัดความคงทนถาวรที่น้อยกว่าบ้านที่สร้างจากอิฐ ปูน คอนกรีต จึงไม่ตอบโจทย์คนใช้ชีวิตในเมืองและคนในยุคปัจจุบันเท่าไหร่นัก และคนไทยส่วนใหญ่นิยมซื้อบ้านสำเร็จรูปพร้อมต่อเติม บิวท์อินไปจนถึงพร้อมเข้าอยู่

ดังนั้น การปรับปรุงระบบบ้านป้องกันน้ำท่วม หรือ ปรับโครงสร้างบางอย่างให้ลอยน้ำได้อัตโนมัติเวลาเกิดน้ำท่วมขังสูง ก็น่าตอบโจทย์การใช้ชีวิตคนเมืองได้ ทั้งในสถานการณ์ปกติและยามมีอุทกภัยได้มากที่สุดค่ะ อย่าง บ้านบ้านสะเทินน้ำสะเทินบก (อังกฤษ) หรือ ระบบ FR system ของแลนดี้ โฮม

undefined

Amphibious House

ที่ตั้ง : Buckinghamshire สหราชอาณาจักร ประเทศ อังกฤษ

ลักษณะบ้าน : บ้าน 3 ห้องนอน 225 ตร.ว.

แนวคิดการออกแบบ :

Amphibious House ( บ้านสะเทินน้ำสะเทินบก ) บ้านลอยน้ำได้เวลาเกิดน้ำท่วมสูงหลังนี้ ได้รับรางวัล Innovation หลายรางวัลเลยค่ะ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเทมส์ ทางใต้ของบักกิงแฮมเชอร์ ซึ่งบ้านบริเวณนี้มักถูกเสริมให้สูงจากพื้น 1 เมตร พอที่จะป้องกันน้ำท่วมระดับที่เกิดขึ้นเป็นประจำ แต่เจ้าของบ้านหลังหนึ่งมีแผนสร้างบ้านให้สูงขึ้นพื้นดินอีก 1.4 ม. เพื่อป้องกันน้ำท่วมระดับรุนแรง เขาจึงสร้างบ้านที่เวลาเกิดน้ำท่วมแล้วจากพื้นชั้นล่างของบ้านจะสูงจากพื้นดินได้ถึง 2.5 เมตร และเพื่อไม่ขัดกับกฎหมายของหน่วยงานอนุรักษ์และสิ่งแวดล้อม เขาจึงออกแบบให้ตัวบ้านส่วนนึงอยู่ใต้ดินเพื่อให้มีอาคารสูงไม่เกินตามที่กฎหมายกำหนดนั่นเองค่ะ

ลักษณะบ้าน :

  • บ้านสะเทินน้ำสะเทินบกหลังนี้ ไม่ว่าสภาวะใดหากมองจากภายนอกจะยังเห็นบ้านตั้งบนพื้นดินและไม่เห็นฐานลอยค่ะ เพราะสภาพพื้นแห้ง โดยชั้นล่างของบ้านยกขึ้นเหนือพื้นดินได้ 1 - 2 เมตร
  • มีการเดินสายเคเบิล ท่อประปาขนาดใหญ่ที่ยืดหยุ่นได้ 3 เมตร เวลาน้ำท่วมสายจะดึงได้ไม่ขาด และเมื่อน้ำลดจะกลับเข้าที่ปกติได้
  • มีการออกแบบสวนอย่างพิถีพิถัน โดยเขาทำระเบียงเป็นขั้นๆ เพื่อเป็นสัญญาณเตือนบอกระดับความสูงของน้ำได้เป็นการสร้างภูมิทัศน์ธรรมชาติ ( Baca Architects ) ที่ใช้งานง่าย
  • ระเบียงต่ำที่สุดปลูกด้วยต้นกก และไม้พุ่ม (ต้นไม้ชนิดเตี้ย) และสนามหญ้าอยู่ชั้นบนสุด พืชที่ปลูกจะช่วยลดการก่อตัวของเกลือและตะกอนได้
  • โดยรอบตัวบ้านนี้เขาออกแบบระบบที่สามารถไล่น้ำหรือระบายน้ำออกได้อีกด้วยค่ะ

อนาคตแบบบ้านนี้จะถูกนำไปประยุกต์ใช้ภายในประเทศอังกฤษต่อไปค่ะ เพราะประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาน้ำท่วมและใช้งานได้จริง นั่นเอง

undefined

ระบบบ้านป้องกันน้ำท่วม ของ แลนดี้ โฮม

แลนดี้ โฮม ที่มีการคิดค้นและพัฒนาผลงานการออกแบบ Flood Resistant System (FR System) หรือ ระบบบ้านป้องกันน้ำท่วม โดยมีคุณสมบัติ ดังนี้

  • วางระบบไฟฟ้าระหว่างชั้น 1-2-3 แยกส่วนกันอย่างชัดเจน มีการแยก Main กระแสไฟฟ้าย่อยในแต่ละจุดภายในบ้าน เวลาเกิดอุทกภัยคุณสามารถตัดกระแสไฟฟ้าเฉพาะจุด และใช้งานชั้นอื่นๆ หรือจุดอื่นที่น้ำท่วมไม่ถึงได้
  • ตัวบ้านชั้น 1 ใช้วัสดุกันน้ำอย่างดี เพื่อลดความเสียหายเวลาเกิดน้ำท่วมขังเป็นระยะเวลานาน
  • ออกแบบระบบการจัดการท่อน้ำเสียไม่ให้น้ำเสียจากถังบำบัดไหลย้อนเข้าสู่ตัวบ้าน
  • มีการติดตั้งถังน้ำดีรวมถึงปั๊มน้ำไว้ที่บริเวณชั้น 2 เพื่อให้มั่นใจว่าทุกคนภายในบ้านจะมีน้ำสะอาดไว้ใช้และสามารถขับถ่ายได้อย่างปกติแม้มีน้ำท่วมขังบริเวณพื้นที่ชั้นล่างของตัวบ้านก็ตามค่ะ
  • โครงสร้างบ้าน FR Series มีแรงบันดาลใจการออกแบบจากศิลปะแห่งเมืองเวนิสที่มีวิถีชีวิตเคียงคู่กับสายน้ำในยุคสมัยบาโรคผสมผสาน กับวัฒนธรรมการอยู่อาศัยแบบไทยกับฟังก์ชั่นเรือนไทยยกสูง โครงสร้างตัวบ้านชั้น 1 จะเปิดโล่ง มวลกระแสน้ำไหลบ้านได้โดยง่าย นั่นเองค่ะ

นอกจากนี้แล้ว ปัจจุบันในประเทศต่างๆทั่วโลกก็ยังเดินหน้าพัฒนาการผลิตวัสดุก่อสร้าง ออกแบบบ้านลอยน้ำรูปทรงต่างๆจนถึงการสร้างเมืองลอยน้ำได้ เพื่อสะดวกสบายมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อการท่องเที่ยวและป้องกันการสูญเสียชีวิต ทรัพย์สินยามเกิดภัยธรรมชาติทางน้ำ ที่เกิดบ่อยขึ้นมากเรื่อยๆ ส่วนไทยหลายพื้นที่มักเกิดน้ำท่วมขังระดับสูงแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ น้องน้ำไม่มีทางไปต้องรอระบายนานมากแม่ ใช้ชีวิตยากลำบาก เสี่ยงไฟดูด สัตว์มีพิษ เอาชีวิตไม่รอด และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายซ่อมแซมอาคารบ้านเรือนเมื่อน้ำลดระดับลง

เป็นอย่างไรบ้างคะ กับตัวอย่างสุดยอดต้นแบบ บ้านลอยน้ำ ชอบแบบไหนกันบ้างเอ่ย ส่วนตัว Genie ชอบแบบ บ้าน ของอังกฤษมากค่ะ เพราะรูปทรงบ้าน ฟังก์ชันการออกแบบทั้งภายในและภายนอกสวยงาม มีประโยชน์ตอบโจทย์ทุกความต้องการมากค่ะ ก็คาดหวังว่าในอนาคต จะได้บ้านจัดสรรในเมืองมีฟังก์ชัน ป้องกันน้ำท่วม สะเทินน้ำสะเทินบก ให้เลือกจับจองเพื่ออยู่อาศัยในราคาราคาที่จับต้องได้บ้าง หากมีจริงๆหล่ะก็ รับรองคนแย่งจับจองกันแน่นอนค่ะ ฟันธง

บทความน่าสนใจ

ขอเปลี่ยนชื่อผู้ใช้ไฟฟ้า ออนไลน์ ภายใน 5 นาที แฮปปี้เว่อร์ 

Smart Mirror กระจกอัจฉริยะสุดล้ำแบบที่สโนว์ไวท์ยังต้ องอิจฉา

อัพเดท 7 คอนโดกรุงเทพฯ มี จุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า