genie-logo

Places

Projects

9 ขั้นตอน เอาตัวรอดจากไฟไหม้ เมื่ออยู่ตึกสูง

Created Sep 3, 2021

9 ขั้นตอน เอาตัวรอดจากไฟไหม้ เมื่ออยู่อาคารสูง

  1. ตั้งสติ
  2. ดับไฟอย่างถูกวิธี
  3. กดสัญญาณเตือนและขอความช่วยเหลือ
  4. ออกจากที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุด
  5. หาทางออกให้ถูกทาง
  6. หนีอย่างรวดเร็ว แต่ไม่แย่งกันออก
  7. แตะ-คลำลูกบิดก่อนเปิดประตูกันไฟพุ่งใส่
  8. หนีไฟในทิศทางที่ถูกต้อง
  9. ก้มต่ำกันสำลักควัน

ไฟไหม้ๆ เวลาเกิดเหตุฉุกเฉินประชิดตัว เช่น เกิดเพลิงไหม้ในหมู่บ้าน คอนโด อาคาร แต่ละคนจะมีปฏิกิริยาการตอบสนองแตกต่างกันออกไป ตกใจแม้กระทั่งแบกโอ่งน้ำ ตู้เย็นกันแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัววิ่งตัวปลิวก็มีให้เห็นกันแล้ว หรือแม้กระทั่งยอมกระโดดตึกหนีไฟด้วยความตกใจชั่วขณะ

อ่านแล้วดูเหมือนเป็นเรื่องตลกขบขันนะคะ แต่พอเอาเข้าจริงก็ยังมีคนที่ตัดสินใจแก้ไขสถานการณ์แบบผิดวิธีทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิต และถ้าเกิดว่าตัวเราเองอยู่ในที่เกิดเหตุไฟไหม้และติดอยู่ในคอนโดอาคารสูงหล่ะ เราจะทำยังไง? คำถามนี้ผุดขึ้นมาในความคิดหลังจากมีข่าวเกิดเพลิงไหม้ที่ชั้น 35 ของอาคารสำนักงาน S Oasis ที่กำลังก่อสร้างแห่งหนึ่งย่านถนนวิภาวดี-รังสิต เครื่องดับเพลิงสูงไม่ถึงจุดที่เกิดเหตุกินเวลาพักใหญ่ และสุดท้ายนักดับเพลิงต้องขนถังดับเพลิงขึ้นลิฟท์ขนของขึ้นไปดับไฟ ด้วยเหตุนี้ Genie เห็นว่าการรู้วิธีการ “ เอาตัวรอดจากไฟไหม้ ” เป็นประโยชน์และเป็นเรื่องใกล้ตัวสำหรับคนเมืองที่พักอาศัยคอนโดสูง จึงแชร์บทความนี้เพื่อให้ทุกท่านได้อ่านทบทวนความรู้กันค่ะ ( ก่อนจะเจอเรื่องบู้จริงๆ หมั่นศึกษาบุ๋นให้ขึ้นใจกันซะหหน่อยก็ดีนะคะ )

แต่หากคุณติดอยู่ที่เกิดเพลิงไหม้ มีวิธีการเอาตัวรอดจากไฟไหม้ ได้ดังนี้

1. ตั้งสติ อย่าตื่นตะหนก

กวาดมองบริเวณโดยรอบเพื่อหาอุปกรณ์ใช้ดับไฟและทางอกกให้เร็วที่สุด

2. ดับไฟอย่างถูกวิธี

หากอยู่ในห้องแล้วเกิดเพลิงไหม้เล็กๆ

  • ถ้าไฟลุกเกิดจากน้ำมัน, ไฟฟ้า หรือไม่แน่ใจว่าต้นเพลิงมาจากไหนให้ ใช้ผ้าห่มผืนหนักๆ ใหญ่ๆ คลุมทับไฟให้ดับ
  • ถ้ามั่นใจว่าไม่ได้เกิดจากไฟลัดวงจรหรือน้ำมัน คุณสามารถดับไฟได้ด้วยน้ำ
  • ถ้าได้กลิ่นเหม็นเหมือนแก๊ส หรือไม่แน่ใจว่าต้นเพลิงเกิดจากสาเหตุใด ห้าม เสียบ-ดึงปลั๊กไฟ กดเปิด-ปิดสวิทช์ไฟ เพราะหากแก๊วรั่ว อาจทำให้เกิดไฟไหม้ได้
  • หากไฟเพิ่งเริ่มก่อตัว ลุกลามไม่มาก ให้รีบตามหาอุปกรณ์ดับเพลิงและใช้ดับไฟให้ได้โดยเร็วที่สุด ภายใน 2 นาที ( หากรอเจ้าหน้าที่ดับเพลิงมาจะไม่ทันการณ์ ลุกลามมากกว่านี้ได้ )

วิธีการใช้งานถังดับเพลิง โดยดึงสลักตรงที่จับด้านบนออก แล้วชี้ปลายสายดับเพลิงไปที่ฐานกองไฟ ให้ตัวเราห่างจากกองไฟ 2-4 เมตร ฉีดจนกว่าไฟจะดับ

undefined

3. รีบกดสัญญานแจ้งเหตุเพลิงไหม้

ที่กล่องแดงข้างผนังทางเดินทันที พร้อมขอความช่วยเหลือจากคนโดยรอบและโทรขอช่วยเหลือ

  • แจ้งไฟไหม้-ดับเพลิง โทร.199
  • เจ็บป่วยฉุกเฉิน (กทม.) โทร.1646
  • เจ็บป่วยฉุกเฉิน (ทั่วไทย) โทร. 1669

4. รีบออกจากที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุด

หากเป็นไฟไหม้ลุกลามเกิดเป็นกองเพลิงขนาดใหญ่ เริ่มมีควันมากขึ้น ไม่สามารถควบคุมเพลิงได้เอง และไม่มีสิ่งใดช่วยดับไฟได้ ควรรีบออกจากที่เกิดเหตุโดยเร็ว ปิดประตูหน้าต่างในห้องที่เกิดเหตุให้สนิท จะช่วยชะลอไฟไม่ให้ลุกลามได้เร็ว และรีบออกมาจากตัวอาคารให้เร็วที่สุด

" อย่าเสียดายของนอกกายเป็นอันขาด " เพราะปัญหาที่ทำให้คนเสี่ยงชีวิตมากที่สุดคือ การเสียดายของมีค่า คิดว่าจะวิ่งเข้าไปเอานั่นนี่ แล้วจะวิ่งออกทัน คุณต้องวิ่งออกมาให้เร็วที่สุด

  • ถ้าอยู่ใกล้ผ้าห่ม ผ้าขนหนู ผ้าปูที่นอน ที่ห่มตัวได้หรือหยิบติดตัวมาด้วยค่ะ
  • หาผ้าชุบน้ำปิดปาก ปิดจมูก หรือหาผ้าห่มชุบน้ำแล้วห่มตัว เพื่อป้องกันการสูดควันไฟ และเพื่อป้องกันความร้อนจากเปลวไฟ

กรณีที่ไม่สามารถออกจากห้องได้ เพราะมีเปลวไฟอยู่บริเวณภายนอกห้อง วิธีการชะลอเวลาไฟลุกลามเข้าห้องของคุณคือ

  • ปิดประตู
  • ใช้ผ้าชุบน้ำอุดบริเวณขอบบานประตู
  • ร้องขอความช่วยเหลือที่หน้าต่าง หรือระเบียง 
undefined

5. รีบหาทางออก

  • ออกไปทางหนีไฟ หากมีควันมากให้ก้มตัวลงต่ำ อากาศที่สามารถหายใจได้จะอยู่ราว 1 ฟุตเหนือพื้น หากคว้าผ้าขนหนูชุบน้ำมาปิดจมูก หรือใช้ถุงพลาสติกขนาดใหญ่กวาดอากาศใส่ถุง แล้วนำมาสวมครอบศีรษะ ก็จะสามารถลดอาการสำลักควันไฟ หรือลดอาการแสบจมูกได้บ้าง
  • หากมาทีบันไดหนีไฟได้ ควรปิดประตูตามหลังทันที (หากไม่มีใครตามหลังมา) อย่าเปิดอ้าทิ้งไว้ เพราะไฟและควันอาจไหลตามออกมาที่ทางเดินหนีไฟได้
  • ไม่ควรออกทางบันไดปกติ เพราะบันไดมีลักษณะเป็นปล่อง ทำให้ควันไฟและเปลวเพลิงลอยตัวขึ้นมาปกคลุม
  • ห้ามหนีเข้าห้องอื่นที่ไม่ใช่ทางออกโดยเด็ดขาด เช่น ห้องใต้ดิน โดยเฉพาะห้องน้ำ การติดอยู่ในห้องที่ไม่มีทางออกคือกับดักดีๆ นี่เอง จงมุ่งหาทางที่สามารถพาเราออกจากตึกได้
  • ห้ามใช้ลิฟท์ โดยสารเด็ดขาด เพราะลิฟท์อาจหยุดทำงานเมื่อเกิดเพลิงไหม้

6. ไม่แย่งกันลงบันได

เวลาเกิดเพลิงไหม้ ให้เดินลงบันไดหนีไฟกันอย่างเป็นระเบียบ ค่อยๆ ตามกันไป อย่าเบียดอย่าดัน ประตูบันไดหนีไฟหนาๆ สามารถทนไฟไหม้ได้ราว 2 ชั่วโมง

7. แตะหรือคลำลูกบิดก่อนเปิดประตู

หากร้อนจัดแสดงว่า มีเปลวเพลิงอยู่ด้านนอก อย่าตื่นตระหนกรีบเปิดประตูทันทีเพราะจะถูกเปลวไฟพุ่งเข้าหาตัวคุณได้ และหากจำเป็นต้องสัมผัสกับสิ่งที่เป็นโลหะ เช่น กลอนประตู ควรลองใช้ด้านหลังมือแตะก่อน เพราะความร้อนของไฟอาจทำให้กลอนประตูร้อนจนลวกมือได้

8. หนีไฟในทิศทางที่ถูกต้อง

ปกติไฟจะลามจากชั้นล่างขึ้นชั้นบน ควรวิ่งลงบันไดหนีไฟไปชั้นล่างให้ได้ แต่หากเปลวเพลิงทำให้ไม่สามารถเดินลงไปสู่ชั้นล่างได้ ให้ขึ้นมาที่ชั้นดาดฟ้าแทน แต่จะมีความเสี่ยงที่ประตูชั้นดาดฟ้าล็อก หรือเฮลิคอปเตอร์/บันไดยาวมาช่วยเอาไว้ไม่ทันได้

9. ให้ก้มตัวลงต่ำและคลานไปกับพื้น

หากติดอยู่ในกลุ่มควันไฟ เพราะออกซิเจนจะลอยอยู่ที่ต่ำ ต้องขอเน้นย้ำนะคะเพราะควันไฟน่ากลัวว่าไฟนะคะ เป็นเหตุที่ทำให้คนส่วนใหญ่เสียชีวิตมากกว่าเปลวไฟถึง 3 เท่าตัวเลยทีเดียว

และเมื่อคุณออกมาได้แล้วแต่พบว่ามีคนติดยังติดอยู่ในอาคาร ห้ามกลับเข้าไปเด็ดขาด ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ดับเพลิงทำการช่วยเหลือค่ะ

การอยู่คอนโดสูงมีจำนวนห้องและผู้คนร่วมอยู่อาศัยจำนวนมากยิ่งต้องวางแผนเรื่องหาทางหนีทีไล่ เวลาเกิดอัคคีภัย ดังนั้น ก่อนซื้อคอนโดคุณควรสำรวจให้ดีว่าโครงการติดตั้ง อุปกรณ์ตรวจจับควัน (Smoke Detector), เครื่องดักจับความร้อน (Heat Detector) และหัวฉีดน้ำดับเพลิง (Sprinkler) มาให้เรียบร้อยหรือไม่ ระยะทางระหว่างห้องที่คุณเลือกกับบันไดหนีไฟ รวมไปถึงว่าโครงการมีปิดกั้นการเชื่อมต่อชั้นไหนบ้าง เป็นต้น เมื่อเข้าอยู่คอนโดแล้วควรหมั่นเชคสภาพอุปกรณ์ด้วยสายตาว่าบิดเบี้ยวผิดรูปหรือไม่ หากผิดปกติรีบแจ้งผู้ดูแลโครงการทันทีค่ะ

เป็นยังไงกันบ้างคะกับบทความ 9 ขั้นตอน เอาตัวรอดจากไฟไหม้ ที่ Genie เรียบเรียงแบบฉบับเข้าใจง่าย เราหวังอย่างยิ่งว่าประเด็นนี้จะไม่เป็นเพียงเรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนชะล่าใจที่คิดว่ารู้อยู่แล้ว! บอกเลยค่ะว่าเอาเข้าจริงๆ หลายคนก็เกือบตายหยั่งเขียดมานักต่อนักแล้วกับความไม่แน่ใจและไม่มีสติว่าจะรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยังไง ดังนั้น การจำข้อควรปฏิบัติเพื่อ เอาตัวรอดจากเกิดไฟไหม้ เป็นเรื่องสำคัญมากที่คุณไม่ควรประมาทหรือพลาดการทบทวนหรือซักซ้อม เช่น การใช้ถังดับเพลิง การซ้อมหนีไฟ ที่โครงการที่พักอาศัย หรือบริษัทฯ จัดขึ้นกันนะคะ เพื่อชีวิตและทรัพย์สินของคุณเองค่ะ