genie-logo

Places

Projects

แก้กฎหมาย การถือครองที่ดิน ให้ต่างชาติ ช่วยไทยไปต่อได้จริงหรือ??

Created Sep 25, 2021

undefined

คำถามนี้ Genie เชื่อว่าน่าจะดังขึ้นในความคิดของใครหลายๆ คนที่ได้ติดตามความคืบหน้าเรื่อง รัฐบาลจะแก้ไขกฎหมายเพิ่มสัดส่วนให้ต่างชาติมีสิทธิ์ซื้อคอนโดมากขึ้นที่สูงถึง 80% ให้สิทธิ์การถือครองที่ดิน รวมถึงเพิ่มอายุเช่าที่ดินได้นานขึ้น หวังกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และหวังดูดเงินจากต่างชาติกลุ่มมั่งคั่งเข้าไทย

เรื่องนี้มีข่าวให้ลุ้นอยู่เป็นระยะๆ และเข้มข้นขึ้นช่วงกลางปี จนกระทั่งเมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมานี้ รัฐบาลมีมติเห็นชอบและประกาศตั้งเป้าแก้กฎหมายให้ทัน ปี 2565 หวังจะให้ต่างชาติมาซื้ออสังหาฯ เพื่อกู้วิกฤติเศรษฐกิจให้เดินต่อไปได้อีกนั้น เป็นประเด็นที่ร้อนแรงมากในขณะนี้

เนื่องด้วย กลุ่มคนหลายฝ่าย รวมถึงภาคประชาชน กังวล ตั้งคำถาม และไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะแก้กฎหมาย เพราะคิดเห็นว่าไม่ต่างอะไรกับขายชาติขายแผ่นดิน และสัญญาเช่าที่จะขยายสัญญาเช่าได้สูงสุดถึง 90 ปี เท่ากับชั่วอายุคนเลยนะคะ อนาคตคอนโดมีต่างชาติเป็นเจ้าของกว่า 80% และคนไทยกลายเป็นผู้เช่านั้น มันดีกับคนไทยจริงๆหรือ? กระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงหรือ? หวังได้เงินไหลเข้าประเทศไทย แท้ที่จริงอาจจะไม่เป็นตามคาดเพราะมีแต่จะไหลไปประเทศที่เข้ากว้านซื้ออสังหาฯ ทำธุรกิจที่พัก การท่องเที่ยวแทนคนไทยซะมากกว่า และด้วยความไม่ชัดเจนของมาตรการการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่รัฐบาลประกาศดูทรงแล้วน่ากังวลนะคะ

ทั้งหมดทั้งมวลจึงเกิดคำถามคาใจ การแก้กฎหมายครั้งนี้จะช่วยให้ไทยไปต่อได้จริงหรือไม่ วันนี้ Genie จึงนำเสนอข้อมูลจากแหล่งข่าวต่างๆ ลำดับตาม Timeline ว่ารายละเอียดของกฎหมายที่แก้ไขมีอะไรบ้าง แล้วมีมุมใดบ้างที่ชวนคิด วิเคราะห์ ว่าถ้าพร้อมแล้วลุยกันเลยค่ะ

จากข่าวฐานเศรษฐกิจ ลงวันที่ 28 ก.ค. 2564 ระบุว่า 

ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) เตรียมออกมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยขยายเพดานให้ชาวต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์ ห้องชุดในไทยได้เกิน 49% อีกทั้งให้สิทธิ์เพิ่มที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยว เพื่อให้สิทธิ์นักลงทุนต่างชาติเข้าซื้ออสังหาริมทรัพย์ไทยและนำเงินเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น โดยกรมที่ดินก็สนับสนุนมาตรการขยายเพดานการถือครองกรรมสิทธิ์ในห้องชุดที่เพิ่มขึ้นรวมไปถึงบ้านแนวราบ แต่มีการเน้นย้ำให้มีเงื่อนไขว่าคอนโดมิเนียมต่างชาติถือครองได้มากกว่า 49% จะต้องเป็นโครงการใหม่ที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ไม่น้อยกว่า 5 ไร่ เท่านั้น

กฎหมายที่ถูกแก้ไข หลักๆ มีดังนี้

  1. กฎหมายเดิม มาตรา 19 ทวิ พระราชบัญญัติอาคารชุด (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 ระบุว่า ชาวต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์ห้องชุดได้ไม่เกิน 49% ของพื้นที่ขายทั้งหมดในคอนโดและ อีก 51% เป็นสิทธิของคนไทยในการถือครองกรรมสิทธิ์
    ร่างแก้ไขกฎหมายใหม่ ให้ชาวต่างชาติมีสิทธิ์มากขึ้น อาจถึง 70-80% แต่มีเงื่อนไขว่าหากโครงการมีจำนวนต่างชาติถือครองเกิน 49% ต่างชาติเหล่านั้นจะไม่มีสิทธิออกเสียงในการประชุมนิติบุคคลอาคารชุด
  2.  กฎหมายเดิม ห้ามมิให้ชาวต่างชาติซื้อบ้านหรือที่ดินในประเทศไทย เว้นแต่จะเข้าเงื่อนไขตามกฎหมาย มาตรา 96 ทวิ ประมวลกฎหมายที่ดิน
    ร่างแก้ไขกฎหมายใหม่ กำหนดให้ชาวต่างชาติสามารถซื้อบ้านเดี่ยวเพื่ออยู่อาศัยเฉพาะโครงการบ้านจัดสรร ราคาประมาณ 10-15 ล้านบาทขึ้นไป โดยซื้อได้ไม่เกิน 49% ของโครงการ
  3. กฎหมายเดิม มาตรา 540 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อนุญาตให้ต่างชาติเช่าอสังหาฯ ได้นานสูงสุดไม่เกิน 30 ปี
    ร่างแก้ไขกฎหมายใหม่ ได้ขยายให้ชาวต่างชาติสามารถทำสัญญาเช่าได้สูงสุด 50 ปี + 40 ปี

ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2564 ที่ผ่านมา ก็ได้มีประกาศมติเห็นชอบจากครม.แล้วค่ะ โดยตั้งเป้าแก้กฎหมายการถือครองที่ดินในทันปี 2565 เพื่อดึงดูดชาวต่างชาติศักยภาพสูงและคนที่พำนักอยู่ในไทยระยะยาว มี 4 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่

  1. กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง (Wealthy Global Citizen) รวมถึงนักลงทุนที่มีกำลังซื้อสูง ภายใต้โปรแกรม Flexible Plus Program
  2. กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ (Wealthy Pensioner)
  3. กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย (Work from Thailand Professional)
  4. กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ (Highly Skilled Professional)

มติดังกล่าวจะมีการใช้ 2 มาตรการหลัก นั่นคือ

1. การออกวีซ่าประเภทผู้พำนักระยะยาว (Long-term resident visa) กำหนดวีซ่าประเภทใหม่ให้กับกลุ่มของชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง ซึ่งจะได้ข้อยกเว้นและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ การยกเว้นให้ผู้ถือวีซ่าประเภท ผู้พำนักอาศัยระยะยาวและวีซ่าประเภท Smart visa ทั้งหมดไม่ต้องมีหนังสือแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบหากอยู่ในประเทศเกิน 90 วัน

2. การแก้ไขกฎหมาย หรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการถือครองที่ดิน การบริหารจัดการการทำงานและอนุญาตให้คนต่างด้าวสามารถทำงานให้นายจ้างทั้งที่อยูในและนอกราชอาณาจักรได้ การยกเว้นหลักเกณฑ์การกำหนดให้การจ้างคนต่างด้าว 1 คน ต้องจ้างงานพนักงานคนไทยทำงานประจำ 4 คน การยกเว้นภาษีประเภทต่างๆ และระเบียบวิธีปฏิบัติด้านการศุลกากร

สรุปสิทธิประโยชน์หลักที่ชาวต่างชาติได้รับ

  1. ยกเว้นไม่ต้องไปรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ทุก 90 วัน
  2. ได้วีซ่าผู้พำนักระยะยาวใหม่ อายุ 10 ปี รวมถึงผู้ติดตาม หรือคู่สมรสและบุตร
  3. สามารถถือครองห้องชุดและบ้านจัดสรรในโครงการบ้านจัดสรรในพื้นที่ที่กำหนด
  4. ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับรายได้จากต่างประเทศ

มาตรการนี้ ทางสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ก็มีคาดหวังว่าจะช่วยดึงดูดชาวต่างชาติกลุ่มมั่งคั่งซัก 1 ล้านคน ย้ายมาอยู่ในไทยภายในระยะเวลา 5 ปีงบประมาณ ( พ.ศ. 2565 - 2569 ) และถ้าเป็นตามเป้าจริงๆ ก็ช่วยเพิ่มปริมาณเงินใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจตั้งแต่ 1 - 2.5 แสนล้านบาท บนสมมติฐานการใช้จ่ายในประเทศเฉลี่ย 1 ล้านบาทต่อคนต่อปี ( ก็ต้องบอกค่ะว่า มันก็เป็นสมมติฐานนะ )

จาก Genie ฟังและส่องมาแล้ว ทั้งหลายฝ่ายและภาคประชาชนนั้นต่างเกิดคำถาม และกังวลเกี่ยวกับมาตรการที่เอื้อสิทธิประโยชน์การถือครองอสังหาฯ ของต่างชาติจะลามไปถึงการผูกขาด หรือมีนักลงทุนต่างชาติมากว้านซื้ออสังหาฯแล้วมาเก็งกำไรกับคนไทยหรือเปล่า รวมกับช่องโหว่อื่นๆ ที่อาจเกิดตามมาภายหลัง ซึ่งทางรัฐบาลเองยังไม่มีรายละเอียดชัดเจนมากนักที่จะคลายข้อสงสัยต่างๆ ที่เกิดขึ้น

เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2564 จากการให้สัมภาษณ์ที่ ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ วิเคราะห์ และมองสถานการณ์ผ่านรายการ THE STANDARD NOW มีใจความดังนี้ค่ะ

  1. ขณะนี้ภาพรวมการถือกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียมของชาวต่างชาติในไทยยังไม่ถึง 49% ตามสัดส่วนที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยเฉพาะยูนิตที่มีราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท มีไม่ถึง 10% ที่คนต่างชาติถือครองอยู่ ส่วนยูนิตที่ราคาเกิน 5 ล้านบาทขึ้นไป มีชาวต่างชาติถือครองอยู่ 20% แต่ในบางพื้นที่ เช่น ภูเก็ต หรือกรุงเทพฯ ชั้นใน บางโครงการอาจมีความต้องการถือครองของชาวต่างชาติเกิน 49% แต่ไม่สามารถขายได้
  2. มีชาวต่างชาติส่วนหนึ่งอยากเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านจัดสรร โดยเฉพาะชาวต่างชาติหลายคนที่อยู่เมืองไทยแล้วรู้สึกดีหรือแต่งงานกับคนไทย อยากจะซื้อบ้านเป็นของตนเอง แต่ปัจจุบันยังมีข้อจำกัดทางกฎหมายที่ยังไม่ได้เปิดกว้างให้ทำได้
  3. ดร.วิชัยมองว่า ถ้ารัฐบาลให้ต่างชาติมาซื้ออสังหาฯ อยากให้มองในส่วนของกลุ่มบ้านที่มีราคาแพงเป็นหลัก เช่น มาเลเซียที่กำหนดว่าราคาบ้านที่ชาวต่างชาติจะซื้อได้นั้น ต้องมีราคา 1 ล้านริงกิต หรือราว 8 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งประเด็นนี้ในประเทศไทยก็มีการพูดถึงในส่วนของราคาบ้านที่เกิน 10 ล้านบาทขึ้นไป และเชื่อว่าไม่กระทบกำลังซื้อของคนไทย เพราะคนไทยมีกำลังซื้อบ้านยูนิตละ 2-3 ล้านบาท หรือ 3-5 ล้านบาท ดังนั้นจึงยังไม่ต้องกังวลว่าต่างชาติจะมายึดครองกรรมสิทธิ์ในตลาดนี้
  4. หากอยากให้ต่างชาติเข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้ ก็สามารถกำหนดเงื่อนไขต่างๆ เช่น พื้นที่ที่เป็นเขตอนุรักษณ์ พื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ ที่เป็นพื้นที่เก่าแก่ สามารถกำหนดห้ามซื้อได้ หรือการกำหนดให้ซื้อเฉพาะพื้นที่ศูนย์กลางทางธุรกิจ ไม่สามารถซื้อโซนที่เป็นที่พักอาศัยของคนไทยได้ ซึ่งชาวต่างชาติที่ต้องการดึงดูดเข้ามา มีความมั่งคั่งอยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่ต้องกังวลเรื่องการซื้อคอนโดมิเนียมราคา 2-3 ล้าน หรือเราเองก็ต้องกำหนดเงื่อนไขเพื่อป้องกันการเก็งกำไรด้วย
  5. เป้าหมายของการเพิ่มชาวต่างชาติเข้ามาในระบบ 1 ล้านคน หากคิดตามสัดส่วนต่อประชากรไทยประมาณ 70 ล้านคน สัดส่วนชาวต่างชาติจะอยู่ที่ประมาณ 1.42% หากเรากำหนดว่าต้องซื้อบ้านในราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป และในความเป็นจริงทุกคนที่มาก็อาจไม่ได้อยู่บ้านคนละหลัง เพราะอาจอยู่เป็นครอบครัว หารออกมาก็จะอยู่ที่ประมาณ 0.71% ต่อประชากรไทยทั้งหมด
  6. ด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลบอกว่าจะมีเงินเข้ามาในระบบกว่า 1 ล้านล้านบาทนั้น เราต้องมาดูงบประมาณรายจ่ายประจำปีของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 3.1 ล้านล้านบาท เมื่อเทียบสัดส่วนแล้ว เท่ากับว่าประเทศไทยมีเงินเข้ามาคิดเป็นสัดส่วน 32% ของงบประมาณประเทศ ซึ่งคิดว่าในภาวะที่ประเทศต้องกู้หนี้ยืมสินมากมาย และต้องดูแลประชากรที่อยู่ระดับล่าง เราควรจะต้องมีเม็ดเงินเข้ามา เนื่องจากประเทศไทยมีประชากรน้อยเกินไปที่จะสร้าง GDP ให้เติบโตได้
  7. การที่ประเทศไทยให้กลุ่มชาวต่างชาติประเภทที่ต้องการ Work from Thailand ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็น Skill Labor, High Technology เราสามารถกำหนดให้กลุ่มคนเหล่านี้อยู่ในพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ต่างๆ เช่น EEC เพื่อขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าได้เร็วกว่า โดยไม่ปล่อยให้โอกาสเหล่านี้ค่อยๆ เดิน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีแม่เหล็กดึงคนเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ มาสอนทักษะความรู้และเพิ่มเติมประสบการณ์ให้คนไทย และประเทศไทยยังต้องอาศัยคนจากต่างประเทศมาเติมเต็มสิ่งเหล่านี้อีกเยอะ มาตรการนี้จะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ดึงดูดคนกลุ่มนี้ได้
  8. แทนที่เราจะดึงคนต่างชาติเข้ามาสอนคนไทย ทำไมไม่พัฒนาคนไทยเอง ดร.วิชัยกล่าวว่า เราต้องมองใน 2 ระยะ เช่น ประเทศจีน ในระยะสั้นเขาทำ Copy & Development ในขณะเดียวกันเขาก็พัฒนาคนของเขา ตอนนี้จีนจึงสามารถทำ 5G ได้ก่อนสหรัฐอเมริกา ซึ่งแปลว่าเราไม่ได้มองทุกอย่างคงที่ เราต้องดึงคนเก่งๆ เข้ามา แล้วใช้คนของเราไปเรียนรู้ทักษะจากชาวต่างชาติหรือให้เขาถ่ายทอดความรู้นวัตกรรมต่างๆ จะทำให้เราเรียนรู้และพัฒนาได้เร็วขึ้น ส่วนระยะยาวเราอาจเปลี่ยนนโยบายก็ได้ ไม่ใช่ว่านโยบายนี้เกิดมาแล้วจะอยู่ตลอด แต่ในช่วงที่ประเทศฟื้นตัว นโยบายข้างต้นก็จำเป็นอย่างยิ่งเพื่อให้ประเทศเดินหน้าไปโดยเร็ว
  9. “ตอนนี้เรา (ประเทศไทย) เหมือนคนขาแพลง จะให้ไปวิ่งอาจยาก แต่อาจให้รถเข็นเขา ก็สะดวกกว่า แต่วันหนึ่งขาเราหายแพลงแล้ว เราเดินได้ดีแล้ว เราวิ่งได้แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องใช้รถเข็นอีกต่อไป วันนี้เราป่วยอยู่ อย่าปฏิเสธหมอ อย่าปฏิเสธยา หมอและยาจะทำให้เราแข็งแรง วันหน้าเราไม่ต้องไปหาหมอแล้ว แล้วเราสามารถที่จะดูแลภูมิคุ้มกันในชีวิตได้ นั่นก็คือประเทศของเรามีความเข้มแข็งพอที่จะขับเคลื่อนทางเศรษกิจเองได้” ดร.วิชัยกล่าว
  10. ประเด็นที่หลายฝ่ายกังวลเรื่องการถือครองโดยนอมินี ดร.วิชัยยอมรับว่ามีจริง แต่ตั้งคำถามว่าทำไมเราไม่ทำทุกอย่างให้อยู่บนโต๊ะ อย่าไปทำใต้โต๊ะแบบผิดกติกา บางครั้งการที่เราปฏิเสธความจริง ทำให้ความจริงหลบไปข้างล่าง เป็นตลาดมืด กลายเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย ถ้าเรายกขึ้นมาบนดินเพื่อให้รัฐได้ภาษี ได้ค่าธรรมเนียม ได้ทุกอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น เหมือนที่เรามีระบบนายหน้าที่ดิน ซึ่งรัฐต้องทำให้ทุกอย่างรวดเร็ว มีรายละเอียดชัดเจน เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นในรัฐบาล เพราะตอนนี้ประชาชนไม่มั่นใจและเชื่อมั่นในรัฐบาล ทำให้ทุกอย่างที่รัฐบาลทำถูกตั้งคำถามมากมาย ทั้งที่บางเรื่องต้องยอมรับว่าดีและจำเป็นในบางช่วงเวลา

วันที่ 21 ก.ย. 2564 จากไทยรัฐ ประกาศข่าว รัฐบาลแจง กรณีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยชี้แจงว่า

  • การให้ต่างชาติที่มีศักยภาพถือครองที่ดิน ไม่ใช่เรื่องใหม่
  • ทุกอย่างอยู่ในขั้นตอนการพิจาณาตาม พ.ร.บ.ที่มีอยู่
  • คนต่างชาติที่ได้รับอนุญาต ต้องใช้ที่ดินเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย สำหรับตนเองและครอบครัว โดยไม่ขัดศีลธรรม จารีตประเพณี และวิถีชีวิตอันดีของชุมชนในท้องถิ่นนั้น ถ้าคนที่ได้รับอนุญาตดังกล่าว กระทำผิดหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่กำหนดไว้จะต้องจำหน่ายที่ดินในส่วนที่ตนมีสิทธิ์ภายในเวลาที่กำหนดไม่เกิน 1 ปี ถ้าพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวอธิบดีมีอำนาจในการจำหน่ายที่ดินนั้น ยืนยันทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมายเดิม

วันที่ 22 ก.ย. 2564 PPTV ประกาศข่าวประเด็น “ ไม่ให้ต่างชาติครองที่ดินเกษตร ”

มาตการ การออกวีซ่าผู้พำนักระยะยาวเพื่อเปิดโอกาสให้ซื้อและเช่าอสังหาริมทรัพย์ โดยขยายสัญญาได้นานสุดถึง 90 ปี มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ในมุมของนักธุรกิจมองว่าน่าจะเป็นผลดี เพราะช่วยดึงคนเก่งและเทคโนโลยีมาพัฒนาประเทศ แต่มีข้อยกเว้น ไม่ให้ต่างชาติถือครองที่กินทำการเกษตร เพื่อป้องกันปัญหาการต้องไปเช่าที่ดินทำกินจากต่างชาติ ดังนั้นประเทศไทยต้องมีการปรับแก้กฎหมายใหม่ มีเงื่อนไขที่จูงใจต่างชาติจึงจะแข่งขันได้ ซึ่งการปรับแก้กฎหมาย ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องผ่านสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น

นโยบายส่งเสริมการลงทุนของไทย vs เพื่อนบ้าน แตกต่างกันอย่างไร ?

นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย บอกว่า ปัจจุบันไทยเปิดให้ต่างชาติเข้ามาเช่าอสังหาฯได้เป็นระยะเวลา 30 ปี และ 50 ปี ซึ่งเป็นการเช่าในพื้นที่อุตสาหกรรมพิเศษ ขณะที่ประเทศรอบข้าง เช่น เวียดนาม สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เปิดให้เช่า 99 ปีหมดแล้ว ยกเว้นเมียนมา ที่ใช้วิธีการให้เช่า 50 ปี +10 +10 ดังนั้นการแข่งขันจึงเป็นไปได้ยาก

ล่าสุด บรรณาธิการ ของ แนวหน้า มีการชี้ประเด็นและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหากเงื่อนไขมาตรการไม่ชัดเจน สรุปได้ดังนี้

  • เรื่องความชัดเจนว่าต่างชาติสามารถซื้อเพื่อการถือครองที่ดิน ในพื้นที่ใดบ้าง
  • การป้องกันการตั้งราคาขายสูงเกินจริง ตัดกำลังคนไทยที่ต้องการซื้ออสังหาฯ เพื่ออยู่อาศัย
  • ในกรณีของอาคารชุด บ้านจัดสรรหากอยู่ในหลักเกณฑ์ที่รัฐกำหนดก็ต้องชัดเจนว่า โครงการที่ชาวต่างชาติซื้อถือครองกรรมสิทธิ์ โครงสร้างนิติบุคคลตามกฎหมายยังบังคับใช้โดยเคร่งครัดผู้ซื้อพักอาศัยมีสิทธิ์ออกเสียงกำหนดทิศทางได้เช่นเดิม ไม่เช่นนั้นผู้ได้รับผลประโยชน์จะใช้คนไทยที่พักอาศัยหากไม่มีความชัดเจนในเรื่องเหล่านี้อาจสร้างปัญหาและส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจมากกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจ
  • หากไม่ชัดเจนทุกกรณี อาจเกิดปัญหา “ ฝนตกไม่ทั่วฟ้า ” หมายถึง ผู้ประกอบการรายใหญ่ได้รับอานิสงส์เช่นเดียวกับผู้ประกอบการที่มีความพร้อมทั้งด้านการเงินและการถือครองที่ดิน หรือกลุ่มธุรกิจที่สามารถร่วมทุนกับต่างชาติได้

โดยสรุปแล้วก็ยังต้องรอความชัดเจนและคำตอบจาก ร.ท.บ. ต่อไป ซึ่ง Genie มองว่าเขาวิเคราะห์เฉพาะมุมเชิงบวก ว่ามาตรการเพิ่มสิทธิ์การถือครองที่ดินให้กับต่างชาติมากขึ้น จะช่วยดูดเม็ดเงินไหลเข้าประเทศได้ไม่มากก็น้อย ซึ่งมันก็อาจจะจริงค่ะ แต่ Genie คิดว่ามาตรการนี้ช่วยแก้ปัญหาการขาดสภาพคล่องทางเศรษฐกิจอย่างหนักหน่วงของไทยได้ช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ส่วนมาตรการป้องกันผลกระทบเชิงลบ วิธีอุดช่องโหว่ ยังไม่มีประกาศชัดเจน

และ Genie คิดว่าการจะเรียกความมั่นใจจากต่างชาติที่มีคุณภาพและมั่งคั่งให้มาซื้ออสังหาฯ เพื่ออยู่อาศัยเองจริงๆได้จำนวนมากมายเป็นล้านคนตามที่ตั้งเป้าได้นั้น ประเทศไทยยังต้องปรับปรุง พัฒนาคุณภาพ มาตรฐานอีกหลายอย่างเลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ความเข้มงวดทางกฎหมาย ภาษี ความทันสมัยต่างๆ ที่เป็นมาตรฐานสากลมากขึ้นและโดยเฉพาะอย่างยิ่ง นั่นก็คือ เสถียรภาพทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมที่ดีระดับนึง เพราะไม่ว่าคนชาติใดก็ตามก็อยากใช้ชีวิตในดินแดน ที่รู้สึกปลอดภัย สงบ สะดวกสบาย มีความก้าวหน้าอยู่แล้วจริงมั้ยหล่ะคะ??