3 อุปกรณ์สุดไฮเทคป้องกันการจมน้ำ พร้อมแนะวิธีเอาตัวรอดและการปฐมพยาบาลเบื้องต้น
สร้างเมื่อ Mar 21, 2022
สวัสดีค่ะ ท่านผู้อ่านทุกท่าน วันนี้น้อง Genie ก็มีเทคนิคง่ายๆในการช่วยเหลือตัวเอง หรือ ช่วยเหลือผู้อื่นขณะประสบอุบัติเหตุทางน้ำมาฝากทุกคนกันอีกเช่นเคยค่ะ แต่ก่อนจะเข้าเรื่องนั้น เรามาดูกันดีกว่าค่ะ ว่าในปีๆนึงเนี้ย มีคนจมน้ำเสียชีวิตเฉลี่ยแล้วปีละกี่คน ซึ่งจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก พบว่าทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำเฉลี่ยปีละ 360,000 คน ซึ่งในตัวเลขนั้น เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวนมากถึง 145,739 คน เรียกได้ว่าในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น มีการเสียชีวิตจากการจมน้ำสูงเป็นอับดับ 2 ของโลกเลยว่าก็ได้ค่ะ
ซึ่งประเทศไทยหากนับย้อนไป 10 ปี ในช่วงพุทธศักราช 2554 - 2563 นั้นมีคนเสียชีวิตจากการจมน้ำกว่า 36,140 คน (เฉลี่ยประมาณปีละ 3,614 คน) แบ่งเป็นเด็กช่วงอายุต่ำกว่า 15 ปี 7,803 คน (เฉลี่ยประมาณปีละ 780 คน) ซึ่งถือว่าเยอะมากๆเลยนะคะ วันนี้น้อง Genie จึงได้ทำการรวบรวมวิธีเอาตัวรอด และ ปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อประสบอุบัติเหตุทางน้ำ พร้อมกับแนะนำอุปกรณ์ที่จะช่วยลดอันตรายเวลาที่เรากำลังเล่นน้ำอยู่นั่นเองค่ะ ตามมาดูเลยยย
วิธีเอาตัวรอด เมื่อตกเรือ เรือล่ม จมน้ำ
อย่างที่ทราบกันอยู่แล้วนะคะ อุบัติเหตุไม่ว่าจะทางบก หรือ ทางน้ำนั้นไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นแต่หากถึงช่วงเวลาที่คับขัน หรือมีเหตุการณ์ต่างๆเกิดขึ้น เช่น พลัดตกเรือ จมน้ำ หรือ เรือล่ม แน่นอนว่าบุคลลที่อยู่ในเหตุการณ์นั้นควบคุมสติไม่ได้แน่นอน และด้วยความที่ไม่มีสตินั้นยิ่งจะทำให้กระวนกระวายจมน้ำได้เร็วขึ้นไปอีก แต่หากเราพยายามตั้งสติและช่วยเหลือตัวเองอาจจะทำให้เรามีโอกาสรอชีวิตสูงเช่นกัน
ซึ่งทางสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้ให้วิธีช่วยเหลือตัวเองเมื่อเกิดอุบัติเหตุทางน้ำ ถึงแม้ว่าเราจะว่ายน้ำไม่เป็นก็มีโอกาสรอดสูง ดังนี้ค่ะ
1.ตั้งสติ
หากมีเหตุไม่คาดฝันเกิดขึ้นเช่นเรือล่ม หรือ มีคนตกน้ำ สิ่งที่ต้องมีเลยคือ “สติ” ไม่ตกใจ เพราะอาจจะทำให้เราจมน้ำเร็วขึ้น พยายามมองหาสิ่งที่ลอยน้ำได้เพื่อนำพาตัวเองไปเกาะไว้ หากอยู่ในสถานการณ์เรือล่มนั้น ต้องรีบออกมาจากเรือให้เร็วที่สุด ไม่เช่นนั้นเราอาจจะถูกเรือดูดเข้าไปใต้ท้องเรือ และจะทำให้จมน้ำเสียชีวิต หริอ เรืออาจจะพลิกมาทับทำให้เราไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้และจมน้ำในที่สุด
2.สวมเสื้อชูชีพ
เมื่อถึงเวลาไปเที่ยว หรือนั่งเรือชมวิว ส่วนใหญ่หลายท่านจะละเลยการสวมเสื้อชูชีพ ซึ่งหารู้ไหมว่า หากเกิดเหตุไม่คาดฝันเสื้อชูชีพนี่แหละค่ะ จะสามารถทำให้เราพยุงตัวอยู่ในน้ำได้นานประมาณ 3-6 ชั่วโมง ซึ่งโดยทั่วไปแล้วตามเรือท่องเที่ยวนั้นจะเป็นเสื้อชูชีพแบบพยุงตัวเท่านั้น จึงจำเป็นต้องใส่ให้ถูกต้อง รัดตัวรัดทุกจุด มิเช่นนั้นเสื้อชูชีพอาจจะหลุดได้
3.ประคองตัว
เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถว่ายน้ำต่อไปได้แล้ว การประคองตัวไปตามกระแสน้ำอาจจะทำให้มีโอกาสรอดชีวิตได้มากกว่าการดันทุรังว่ายทวนกระแสน้ำไปนะคะ เนื่องจากเราจะหมดแรง หรือเป็นตะคริวได้ในที่สุด ให้มองหาสิ่งที่จะสามารถเกาะไว้เพื่อลอยตัว อย่าพยายามลอยไปใกล้กอพืชอย่างเช่น ผักตบชวานะคะ เพราะว่ารากของพืชชนิดนี้อาจจะพันขาได้นั่นเองคค่ะ
4.รอขอความช่วยเหลือ
เมื่อทำทุกวิถีทางแล้วยังไม่มีอะไรที่จะช่วยเหลือเราได้นั้น ให้เราลอยตัวอยู่ในน้ำ ไหลตามกระแสน้ำไปจนกว่าจะเจอสัญญาณที่ดี เช่น พบเห็นผู้คน หรือ เห็นว่าเราอยู่ใกล้ฝั่งแล้ว พยายามตั้งสติและ ค่อยๆว่ายน้ำไปในทิศทางที่เราคิดว่าจะเจอความช่วยเหลือค่ะ กรณีที่เจอเรือควรจะตะโกนขอความช่วยเหลือ ดีกว่ารีบว่ายเข้าไปใกล้เรือนะคะ เพราะอาจจะทำให้เกิดอันตรายจากใบพัดเรือ หรือไม้พายในกรณีที่คนบพายเรือนั้นมองไม่เห็นเราค่ะ
สิ่งที่ต้องรู้ก่อนใช้อุปกรณ์ในการช่วยคนจมน้ำ
หากเราพบเจอคนตกน้ำ หรือ มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นตรงหน้า อย่างแรกที่เราต้องทำคือ “ตั้งสติ” และจากนั้นให้รีบตะโกนขอความช่วยเหลือจากนั้นให้มองหาอุปกรณ์ใกล้ตัวของเราที่จะสามารถลอยน้ำได้ ยกตัวอย่างเช่น
- ขวดน้ำพลาสติก หลายๆใบ ทริคคือใส่น้ำไว้ในขวดเล็กน้อยเพื่อการโยนที่แม่นมากขึ้นค่ะ
- ถังแกลลอนผูกเชือก หรือถุงเชือก เพื่อให้ผู้ประสบภัยได้เกาะไว้
- นำไม้ หรือ ท่อ อะไรก็ได้มาให้ผู้ประสบภัยจับไว้ เพื่อที่จะดึงเข้ามาหาฝั่งนั่นเองค่ะ
การช่วยเหลือและปฐมพยาบาลเบื้องต้น
เนื่องจากการช่วยเหลือคนจมน้ำนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆอย่าง เช่น ระยะเวลา กระแสน้ำ ความรวดเร็วในการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ซึ่งการช่วยเหลือเบื้องต้นที่สามารถจำได้ง่ายๆเลยคือ “ตะโกน โยน ยื่น” ทั้งนี้นะคะเราจะแบ่งการช่วยเหลือเป็น 2 ส่วนด้วยกันคือ การช่วยเหลือคนที่ยังมีสติขณะที่ตกน้ำ และ ช่วยเหลือคนที่ไม่มีสติขณะที่ตกน้ำ
1.การช่วยเหลือคนที่ยังมีสติขณะที่ตกน้ำ
ในส่วนนี้เราสามารถใช้เทคนิค “ตะโกน โยน ยื่น” ได้ค่ะโดยอย่างแรกที่ต้องทำคือ
- ตะโกน ขอความช่วยเหลือจากคนที่อยู่บริเวณนั้นให้ได้ยิน
- โยน ให้เราหาอุปกรณ์ที่สามารถลอยน้ำได้ไม่ว่าจะเป็น ถังแกลลอน ขวดน้ำพลาสติก หรือ ห่วงยางชูชีพก็ได้ค่ะ (ทริคการโยนขวดน้ำคือ ควรใส่น้ำไว้ในขวดเล็กน้อย เพื่อที่จะได้โยนให้ตรงเป้าหมายค่ะ)
- ยื่่น หากผู้ที่ประสบภัยว่ายน้ำเข้ามาใกล้ฝั่งแล้ว แต่ยังไม่สามารถช่วยได้ ให้เรานำอุปกรณ์เช่น ไม้ เชือก หรือเข็มขัดให้ผู้ที่ประสบภัยจับไว้ และค่อยๆดึงมาหาฝั่ง เป็นต้นค่ะ
2.ช่วยเหลือคนที่ไม่มีสติขณะที่ตกน้ำ
ในส่วนนี้ผู้ที่ช่วยเหลือจำเป็นจะต้องว่ายน้ำเป็น และ มีประสบการณ์ในการพาผู้ประสบภัยเข้าฝั่งเป็นอย่างดี แต่หากไม่มีประสบการณ์ หรือ ไม่เคยช่วยเหลือ สามารถทำได้ดังนี้ค่ะ
- ดึงผู้ประสบภัยเข้าฝั่งโดยการกอดไขว้หน้าอก โดยให้ผู้ช่วยเหลือเข้าประชิดด้านหลังผู้ประสบภัย จากนั้นใช้มือข้างหนึ่งพาดบ่าด้านหลังในแนวไขว้ทแยงหน้าอก และจับลำตัวด้านข้างของผู้จมน้ำ แล้วใช้มืออีกข้างว่ายกึ่งท่ากบเข้าหาฝั่ง ที่สำคัญจะต้องให้ใบหน้า ปาก และจมูกของผู้ประสบภัยอยู่เหนือผิวน้ำเสมอ
- ดึงผู้ประสบภัยเข้าฝั่งโดยการจับคาง โดยให้ผู้ช่วยเหลือเข้าประชิดด้านหลังผู้ประสบภัย ใช้มือทั้งสองข้างจับขากรรไกรทั้งสองข้างของผู้จมน้ำ จากนั้นใช้เท้าตีน้ำเพื่อพยุงตัวเข้าหาฝั่ง ที่สำคัญจะต้องให้ใบหน้า ปาก และจมูกของผู้ประสบภัยอยู่เหนือผิวน้ำเสมอ
ปฐมพยาบาลเบื้องต้น
สำหรับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นนั้นสิ่งแรกที่เราต้องคำนึงถึงเลยก็คือ ผู้ประสบภัยนั้นมีสติอยู่หรือไม่ จากนั้นให้โทร 1669 เรียกหน่วยกู้ภัย หรือ โรงพยาบาลที่ใกล้เคียงโดยเร็วที่สุด และกว่าที่แพทย์ หรือหน่อยกู้ภัยจะมาถึงสถานที่นั้นต้องใช้เวลาพอสมควร เราสามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นตามขั้นตอนได้ดังนี้ค่ะ
-จัดท่าให้ผู้ประสบภัยนอนหงายราบบนพื้นแข็ง
-ให้ตรวจดูว่าผู้ประสบภัยนั้นยังมีสติอยู่หรือไม่ โดยใช้มือทั้ง 2 ข้างจับไหล่และเขย่าตัวเบา พร้อมตะโกนเรียกชื่อดังๆ
1.1.ในกรณีที่รู้สึกตัว
- ให้นำผ้ามาเช็ดตัวให้แห้ง ทำการเปลี่ยนเสื้อผ้า เพิ่มความอบอุ่นให้ร่างกายโดยการห่มผ้า จากนั้นต้องนำตัวส่งโรงพยาบาล
1.2.ในกรณีที่ไม่รู้สึกตัว
- ให้ทำการเปิดทางเดินหายใจ โดยการกดหน้าผาก และเชยคาง
- ทำการเป่าปาก โดยวางปากให้ครอบปากผู้ประสบภัย และบีบจมูก จากนั้นทำการเป่าลมเข้าไปในปาก โดยให้หน้าผู้ประสบภัยยกขึ้น (ทำการเป่า 2 ครั้ง)
- จากนั้นให้ทำการกดนวดหัวใจ โดยวางสันมือให้ขนานกึ่งกลางกับแนวหน้าอก แขนต้องตั้งฉาก กดหน้าอกให้ยุบประมาณ 2 นิ้ว ของความหนาของหน้าอก (ต้องกดลงไปในแนวดิ่งและอย่ากระแทก) ทำประมาณ 30 ครั้งสลับกับการเป่าปาก จนกว่าผู้ประสบภัยจะรู้สสึกตัวลายใจได้เอง
- เมื่อผู้ประสบภัยหายใจได้เองแล้ว ควรจับผู้ป่วยนอนตะแคงข้าง ศีรษะหงายไปข้างหลังเพื่อให้น้ำไหลออกทางปาก อย่าลืมทำให้ผู้ประสบภัยอบอุ่นด้วยการห่มผ้านะคะ
- จากนั้นควรรีบนำตัวผู้ประสบภัยส่งโรงพยาบาลทันทีค่ะ
แนะนำอุปกรณ์ในการป้องกันการจมน้ำ
และสำหรับวันนี้นะคะน้อง Genie มีอุปกรณ์ที่จะช่วยให้ผู้ปกครอง หรือคนที่ว่ายน้ำไม่แข็ง กำลังหัดว่ายน้ำ หมดกังวลค่ะ เพราะว่าอุปกรณ์เหล่านี้ได้สร้างมาเพื่อพวกคุณโดยตรง (ปรบมือค่ะ) มาเริ่มกันที่อย่างแรกเลยนะคะ
1.KINGII
สำหรับชิ้นแรกนะคะเป็นสายรัดข้อมือชูชีพที่มีขนาดเล็ก กะทัดรัด แต่สามารถรองรับน้ำหนักได้ถึง 130 กก. เลยค่ะ จิ๋วแต่แจ๋วของจริง โดยนิยมให้บุตรหลานหรือคนที่ว่ายน้ำไม่แข็งสวมใส่ไว้ เมื่อเกิดอุบัติเหตุ หรือ เหตุการณ์ไม่คาดฝัน เพียงดึงสลักออก เจ้าตัว Kingii ก็จะทำงานทันที โดยจะปล่อยก๊าซคาบอนไดออกไซด์ออกมาทำให้ถุงลมพองตัวและพาเราลอยตัวอยู่เหนือผิวน้ำ เฉลี่ยเวลาแล้วไม่ถึง 1 นาทีค่ะ ซึ่งถุงลมนั้นสามารถลอยตัวอยู่เหนือผิวน้ำได้นานถึง 2 วัน เท่านั้นยังไม่พอนะคะ เพราะว่าถายในบรรจุนกหวีดไว้สำหรับเป่าเพื่อขอความช่วยเหลือ และยังมีเข็มทิศนำทางอีกด้วยค่ะ ซึ่งบุคคลที่คิดค้นอุปกรณ์อัจฉริยะนี้ก็คือ Tom Agapiades เพราะว่าเขาได้สูญเสียเพื่อนรักของเขาไปด้วยอุบัติเหตุทางน้ำเมื่อปี 2012 นั่นเองค่ะ
2.Swim Trainer belt
สำหรับชิ้นที่ 2 นะคะจะเป็นเข็มขัดที่ช่วยในเรื่องการฝึกว่ายน้ำค่ะ เหมาะสำหรับคนที่กำลังฝึกว่ายน้ำ หรือออกกำลังกายในน้ำค่ะ วัสดุอุปกรณ์นั้นถูกออกแบบมาให้มีความแข็งแรง และ ยึดหยุ่นมีประสิทธิภาพในการกันกระแทกเป็นอย่างดีค่ะ โดยวิธีการใช้นะคะให้นำเชือกผูกไว้กับบันไดขอบสระ หรือ ผูกไว้กับเสาที่มีความแข็งแรง จากนั้นให้เรานำสายคาดเอวมารัดตรงช่วงเอวโดยจะมีหัวเป็นเข็มขัดซึ่งสามารถล็อกตัวเราให้พอดีกับสายรัด และมีความแข็งแรงพอสมควรค่ะ เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย เราสามารถฝึกว่ายน้ำได้ทันทีค่ะ
3. Restube
และมาถึงชิ้นสุดท้ายกันแล้วนะคะ ซึ่งชิ้นนี้มีชื่อว่า Restube หรือเรียกว่า อุปกรณ์ชูชีพ แบบพกพาก็ได้เช่นกันค่ะ โดยอุปกรณ์ชิ้นนี้นั้นเหมาะสำหรับทำกิจกรรม นั่งเรือท่องเที่ยว ดำน้ำตื้นหรือสนอร์กเกิล เพียงแค่คาดไว้ที่เอวก็จะสามารถช่วยเพิ่มความปลอดภัยขณะทำกิจกรรมต่างๆได้ค่ะ หากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นเพียงแค่กระตุก “ทริกเกอร์ (Trigger)” ตัวทุ่น Restube ก็จะพองตัวขึ้นทำให้เราสามารถเกาะเพื่อลอยตัวในน้ำได้นั่นเองค่ะ นอกจากจะมีตัวทุ่นแล้วจุดที่เรียกว่า ทริกเกอร์ (Trigger) ยังเป็นนกหวีดเพื่อให้เราสามารถเป่าเพื่อขอความช่วยเหลือได้อีกด้วยค่ะ
เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับบทความที่นำมาเสนอกันในวันนี้ น้อง Genie เองมองว่าสถานการณ์ต่างๆมักเกิดขึ้นโดยที่เราไม่ทันตั้งตัว โดยเฉพาะเรื่องการจมน้ำ เพราะว่าในช่วงปิดเทอมของประเทศไทยนั้นจะตรงช่วงหน้าร้อนพอดี ไม่ว่าจะเป็นเด็ก หรือ ผู้ใหญ่ก็ต้องการที่จะเล่นน้ำ แต่หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นมา และ ไม่มีความรู้เบื้องต้นในการช่วยชีวิต นั่นจะทำให้เราเกิดความสูญเสียครั้งใหญ่เลยนะคะ น้อง Genie จึงอยากรณรงค์ให้ทุกท่านเรียนการปฐมพยาบาลเบี้องต้นไว้เป็นความรู้ที่จะสอนลูกหลานต่อไปได้ค่ะ
สำหรับความคิดเห็นส่วนตัวนะคะ น้อง Genie เคยได้มีโอกาสออกไปล่องเรือมา 3 - 4 ครั้งแต่น้อยมากๆเลยที่กัปตันขับเรือจะอธิบายให้ลูกเรือเข้าใจ หากเกิดเหตุไม่คาดฝันต้องทำอย่างไร ซึ่งส่วนใหญ่ไม่น่าจะทราบ ดังนั้นจึงอยากให้กับตันเรืออธิบายและบอกวิธีเบื้องต้นในการเอาตัวรอดเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น เพื่อเป็นการเตือนสติทุกคนที่โดยสารเรือ อย่างที่เขาว่าสติมาปัญญาเกิด สติเตลิดอาจเสียชีวิตได้ สำหรับ น้อง Genie กันไว้ก่อนดีกว่าแก้ว่าคะ
ให้เห็นภาพง่ายๆเวลาขึ้นเครื่องบินแอร์โฮเตสจะมีการพูดทุกครั้งถึงอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นและต้องปฏิตัวอย่างไร จึงอยากให้กัปตันเรือและผู้ช่วยอธิบายว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไรค่ะ
อย่าลืมเข้าไปให้กำลังใจน้อง Genie และ นักเขียนของเราได้ทั้งหมด 2 ช่องทางเพื่อเป็นกำลังแรงใจให้เราทำคอนเท้นต์ที่มีคุณภาพมาให้ทุกท่านอ่านอีกนะคะ
Website : www.genie-property.com
ขอบคุณข้อมูลจาก