คู่รัก LGBTQ+ กู้ร่วมได้แล้วนะ รู้ยัง!??

สร้างเมื่อ Jun 20, 2022

ในปัจจุบันนี้นะคะสังคมไทยเปิดกว้างในเรื่องเพศทางเลือกมากขึ้น ครอบคลุมไปถึงเรื่องการกู้ซื้อบ้าน ซึ่งก็มีหลายธนาคารที่เปิดโอกาสให้กลุ่มคู่รัก LGBTQ+ ได้ขอสินเชื่อกู้ร่วมด้วยกัน วันนี้น้อง Genie ได้นำรายละเอียดมาให้เพื่อนๆ ได้ลองศึกษาว่าต้องทำอย่างไรบ้าง และจะมีธนาคารใดบ้างที่ให้สินเชื่อ สามารถติดตามได้จากบทความนี้ค่ะ ตามมาเล้ยยยยย

undefined

1. ทำไมต้อง “กู้ร่วม” ???

ต้องบอกก่อนนะคะว่า หากเราต้องการซื้อบ้านสัก 1 หลัง เราควรจะต้องมีรายได้มากพอ มีหน้าที่การงานมั่นคง ไม่อย่างนั้นโอกาสที่เราจะกู้ผ่านนั้นมีน้อยมากๆ เลยค่ะ ปัจจุบันจึงทำให้คนที่อยากมีบ้านหันมาหาคนกู้ร่วมนั่นเองค่ะ

ซึ่งการกู้ร่วม คือ การเซ็นสัญญายื่นกู้ทรัพย์สินชิ้นเดียวกัน โดยผู้ที่กู้ร่วมนั้นจะต้องเป็น คู่สมรส,พ่อ/แม่, พี่น้อง หรือญาติเท่านั้น พูดง่ายคือจะต้องมีสายเลือดเดียวกัน หรือความสัมพันธ์ทางเครือญาติเท่านั้น

โดยธนาคารจะเป็นฝ่ายกำหนดจำนวนผู้กู้ร่วมไว้กี่คนก็ได้ค่ะ เช่น สามารถกู้ร่วมได้ไม่เกิน 3 คน เป็นต้น และการที่ธนาคารจะเลือกอนุมัติสินเชื่อนั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณารายได้ของแต่ละคนว่ามีกำลังในการผ่อนต่อเดือนแค่ไหน บวกกับวงเงินที่เราขอกู้ไปด้วยค่ะ

undefined

2. ตอบข้อสงสัย ทำไมคู่รัก LGBTQ+ ถึงไม่สามารถกู้ร่วมกันได้

อย่างที่น้อง Genie กล่าวไปแล้วข้างต้นนะคะว่าหากเราต้องการขอสินเชื่อกู้ร่วม บุคคลที่จะมากู้ร่วมกับเราจะต้องมีสายเลือดเดียวกัน หรือเป็นคู่สามี - ภรรยาที่จะจดทะเบียนสมรสแล้ว หรือยังไม่จดก็ได้ แต่ต้องมีหลักฐานว่าเป็นคู่รัก เช่น ภาพถ่ายงานแต่งงาน เป็นต้น

ซึ่งสำหรับการกู้ร่วมของคู่รัก LGBTQ+ ยังไม่สามารถกู้ร่วมได้นั้น สาเหตุหลักๆ ก็จะมาจากไม่สามารถจดทะเบียนสมรส เพื่อแสดงความสัมพันธ์ในทางนิตินัยได้นั่นเองค่ะ

แต่ก็ยังมีในบางธนาคารที่เล็งเห็นถึงความต้องการของคู่รัก LGBTQ+ จึงทำการปล่อยสินเชื่อการกู้ร่วมกัน โดยเงื่อนไขจะเหมือนกับการกู้ร่วมกันของคู่รักชาย-หญิง ที่ยังไม่ได้จดทะเบียนสมรส คือต้องมีการยืนยันความสัมพันธ์ตามที่ทางธนาคารได้กำหนดไว้นั่นเองค่ะ

3. การกู้ร่วมแบบทั่วไป และ แบบคู่รัก LGBTQ+

สำหรับความแตกต่างของการกู้ร่วมแบบทั่วไป และ แบบคู่รัก LGBTQ+ นะคะ ส่วนใหญ่คือจะเหมือนกับการกู้ร่วมแบบปกติเลยค่ะ จะมีแค่ในส่วนของผู้ถือกรรมสิทธิ์เท่านั้นที่เปลี่ยนไป ซึ่งน้อง Genie แบ่งมาให้เป็น 2 แบบ ดังนี้ค่ะ

  • แบบที่ 1 ยื่นขอสินเชื่อกู้ร่วม แต่มีชื่อคนคนเดียวเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์
  • แบบที่ 2 ยื่นขอสินเชื่อกู้ร่วม และใส่ชื่อของผู้กู้ทั้ง 2 คนให้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกัน

แต่สำหรับคู่รัก LGBTQ+ นั้น ธนาคารโดยส่วนใหญ่จะให้เลือกแบบถือครองกรรมสิทธิ์ร่วมกันนั่นเองค่ะ

undefined

4. เปิด 4 ธนาคารที่คู่รัก LGBTQ+ กู้ร่วมกันได้

อย่างที่น้อง Genie ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นนะคะ ว่าตอนนี้มีหลายธนาคารเลยที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการมีที่อยู่อาศัยของคู่รัก LGBTQ+ จึงได้ยินดีอนุมัติสินเชื่อกู้ร่วมให้นะคะ โดยมีเงื่อนไขและขอกำหนดการให้สินเชื่อที่แตกต่างกันค่ะ ซึ่งจะมีธนาคารใด และเงื่อนไขอย่างไรบ้างนั้น ไปดูพร้อมๆกันเลยค่าาา

1. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

การขอกู้สินเชื่อบ้านร่วมกันสำหรับคู่เพื่อน ที่ต้องการใช้ชีวิตร่วมกันนั้นแตกต่างจากการกู้ร่วมแบบเดิม คือ ไม่จำเป็นต้องมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับผู้กู้ แต่จะพิจารณาจากรายได้ ศักยภาพในการชำระคืน และเครดิตของผู้กู้ทั้ง 2 ท่าน รวมถึงการตรวจสอบเพื่อยืนยันความสัมพันธ์ ทั้งนี้ ผู้กู้หลัก และผู้กู้ร่วม จำเป็นต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

  • บุคคลธรรมดา
  • สัญชาติไทย
  • อายุ 30 – 65 ปี
  • พนักงานประจำ อายุงานรวมที่ทำงานเดิมและปัจจุบันตั้งแต่ 2 ปี ขึ้นไป (งานปัจจุบันต้องผ่านการทดลองงานแล้ว)
  • ผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัว ประกอบธุรกิจมาแล้ว ตั้งแต่ 2 ปี ขึ้นไป
  • ผู้กู้หลักต้องมีรายได้ 50,000 บาท ต่อเดือนขึ้นไป
  • ผู้กู้ต้องมีเอกสารหรือหลักฐานแสดงความสัมพันธ์หรือการอยู่ร่วมกันอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี ตามที่ธนาคารกำหนด เช่น ทะเบียนบ้านที่อยู่ด้วยกัน, บัญชีเงินฝากที่เปิดร่วมกัน เป็นต้น ทั้งนี้สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้จากพนักงานขาย

เงื่อนไขในการเข้าร่วมโครงการ

  • เป็นการขอสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยใหม่จากโครงการในกลุ่มบริษัทอสังหาริมทรัพย์พันธมิตรซึ่งธนาคารให้การสนับสนุนโดยราคาซื้อขาย (หลังหักส่วนลดทั้งหมดแล้ว) ตั้งแต่ 4 ล้านบาทขึ้นไป
  • อัตราดอกเบี้ยใช้ดอกเบี้ยปกติตามกลุ่มต่างๆ ตามประกาศของธนาคาร
  • การพิจารณาอนุมัติสินเชื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด

เอกสารหลักฐานในการขอสินเชื่อ

  • สำเนาบัตรประชาชน
  • สำเนาทะเบียนบ้าน
  • สำเนาใบเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล(ถ้ามี)
  • สำเนาใบประกอบวิชาชีพที่ถือไม่น้อยกว่า 2 ปี และยังไม่หมดอายุ สำหรับกลุ่มอาชีพพิเศษ(ถ้ามี)
  • หนังสือรับรองเงินเดือน และ สลิปเงินเดือน
  • Statement ย้อนหลัง 6 เดือน
  • สำเนาสัญญาซื้อขาย

2. ธนาคารกสิกรไทย

ทางธนาคารกสิกรไทยกำหนดให้ผู้ที่ต้องการจะขอสินเชื่อบ้าน รวมไปถึงกลุ่มคู่รัก LGBTQ+ ต้องระบุในใบสมัครบริการสินเชื่อบ้านให้ชัดเจนว่าความมีสัมพันธ์ “เป็นคู่รัก” กับผู้กู้ร่วมหลัก โดยต้องมีคุณสมบัติดังนี้

คุณสมบัติ

  • สัญชาติไทย อายุ 20 ปีขึ้นไป แต่ไม่เกิน 70 ปี
  • มีผู้กู้ร่วมได้ไม่เกิน 3 คน และต้องเป็นเครือญาติตามกฎหมาย (รวมถึงคู่สมรสไม่จดทะเบียน)

รายได้

  • กรณีกู้เดี่ยว รายได้สุทธิตั้งแต่ 15,000 บาท ต่อเดือนขึ้นไป
  • กรณีกู้ร่วม รายได้สุทธิรวมกัน 15,000 บาท ต่อเดือนขึ้นไป

หมายเหตุ :

  • กรณีกู้ซื้อทรัพย์สินรอการขาย รายได้สุทธิขั้นต่ำ ตั้งแต่ 7,500 บาท ต่อเดือนขึ้นไป (กรณีกู้ร่วม รายได้สุทธิของผู้กู้และผู้กู้ร่วมทุกคนรวมกันต้องเป็นไปตาม เกณฑ์ข้างต้น)
  • อายุงานไม่น้อยกว่า 6 เดือน (อายุงานรวมที่ทำงานเก่าได้โดยต้องผ่านการทดลองงาน ณ ที่ทำงานปัจจุบัน)

เงื่อนไขในการเข้าร่วมโครงการ

  • วงเงินกู้สูงสุด 100% ของมูลค่าที่อยู่อาศัย
  • ระยะเวลาในการผ่อนนานสูงสุด 30 ปี

เอกสารหลักฐานในการขอสินเชื่อ

  • สำเนาบัตรประชาชน
  • สำเนาทะเบียนบ้าน
  • เอกสารรับรองการอยู่ร่วมกัน
  • สำเนาใบเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล(ถ้ามี)
  • หนังสือรับรองเงินเดือน และ สลิปเงินเดือน
  • Statement ย้อนหลัง 6 เดือน
  • สำเนาสัญญาซื้อขาย
  • กรณีกู้ร่วม รายได้สุทธิรวมกัน 15,000 บาท ต่อเดือนขึ้นไป

3. ธนาคารยูโอบี

สำหรับธนาคารยูโอบีนั้นจะเป็นสินเชื่อเหมือนการกู้โดยบุคคลทั่วไปนะคะ ไม่ได้เฉพาะเจาะจงแต่ กลุ่มคู่รัก LGBTQ+ เท่านั้นซึ่งจะมีการพิจารณาคุณสมบัติดังนี้ค่ะ

คุณสมบัติ

  • บุคคลธรรมดา สัญชาติไทย
  • อายุขั้นต่ำ 21 ปี รวมระยะเวลากู้
  • อายุการทำงานอย่างน้อย 2 ปี (หรือ 3 ปี สำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระ/ธุรกิจส่วนตัว)
  • สำหรับมนุษย์เงินเดือน และหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจต้องมีอายุไม่เกิน 70 ปี
  • สำหรับเจ้าของกิจการต้องมีอายุไม่เกิน 75 ปี

รายได้

  • ผู้กู้หลักและผู้กู้ร่วมต้องมีรายได้ 20,000 บาท / เดือนขึ้นไป

เงื่อนไขในการเข้าร่วมโครงการ

  • วงเงินกู้สูงสุด 100% ของราคาซื้อขาย
  • ระยะเวลาในการผ่อนนานสูงสุด 30 ปี

เอกสารหลักฐานในการขอสินเชื่อ

  • สำเนาบัตรประชาชน
  • สำเนาทะเบียนบ้าน
  • เอกสารรับรองการอยู่ร่วมกัน
  • สำเนาใบเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล(ถ้ามี)
  • หนังสือรับรองเงินเดือน และ สลิปเงินเดือน
  • Statement ย้อนหลัง 6 เดือน
  • สำเนาสัญญาซื้อขาย

4. ธนาคารไทยพาณิชย์

สำหรับธนาคารไทยพาณิชย์นะคะ สามารถขอยื่นกู้ร่วมได้โดยข้อพิจารณานั้นเหมือนกับการกู้ร่วมกรณีอื่นๆ เลย ซึ่งคุณสมบัติเบื้องต้นมีดังนี้ค่ะ

คุณสมบัติ

  • สัญชาติไทย
  • อายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีขึ้นไป โดยอายุผู้กู้รวมระยะเวลากู้ไม่เกิน 65 ปี (กรณีมีผู้กู้ร่วม ให้พิจารณาจากผู้กู้ที่มีอายุน้อยที่สุดเป็นเกณฑ์)
  • ไม่เคยเป็นลูกหนี้ปรับโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงิน

รายได้

  • ทางธนาคารไม่ได้กำหนดไว้ แต่ต้องมีรายได้แน่นอน และต้องสูงกว่าอัตราผ่อนชำระในแต่ละงวด ประมาณ 3 เท่า

เงื่อนไขในการเข้าร่วมโครงการ

  • วงเงินกู้สูงสุด 95% ของมูลค่าที่อยู่อาศัย

เอกสารหลักฐานในการขอสินเชื่อ

  • สำเนาบัตรประชาชนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หรือ สำเนาบัตรข้าราชการ หรือ สำเนาบัตรพนักงานรัฐวิสาหกิจ ที่มีเลขที่ประจำตัวประชาชน และ รูปถ่ายบนหน้าบัตร หรือ สำเนาหนังสือเดินทาง (ใช้สำหรับคู่สมรสเป็นชาวต่างชาติ) พร้อมแนบสำเนาทะเบียนบ้าน
  • สำเนาทะเบียนบ้าน
  • สำเนาทะเบียนสมรส (ถ้ามี)
  • สำเนาใบเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล (ถ้ามี)
  • สำเนาสัญญาซื้อขาย
  • หนังสือรับรองเงินเดือน และสลิปเงินเดือน
  • เอกสารการเดินบัญชีย้อนหลัง 6 เดือน

undefined

undefined

5. ปัญหาการกู้ร่วม หากมีการเลิกรา

ถึงแม้ว่าหลายๆ คนนั้นจะมองว่าการกู้ร่วมคือทางออกของการกู้ซื้อบ้านนะคะ แต่ก็มีปัญหาอีกอย่างที่เราควรจะรู้ไว้ หากว่าวันหนึ่งนั้นผู้กู้ทั้ง 2 ฝ่ายไม่ได้อยู่ด้วยกันแล้วนั่นเองค่ะ ซึ่งจะมีวิธีใดบ้างที่จะจบปัญหาเหล่านี้ วันนี้น้อง Genie มีคำแนะนำค่ะ

1. ถอดถอนชื่อผู้กู้ร่วม กรณีไม่ได้จดทะเบียนสมรส

สำหรับการถอดถอนชื่อผู้กู้ร่วม กรณีไม่ได้จดทะเบียนสมรสนั้นไม่ยุ่งยากเลยค่ะ ขึ้นอยู่กับข้อตกลงของทั้ง 2 ฝ่าย จากนั้นเข้าไปดำเนินเรื่องกับทางเจ้าหน้าที่ธนาคารที่ทำสัญญากู้ร่วมไว้ค่ะ โดยสามารถแจ้งความประสงค์ได้เลยว่าต้องการถือกรรมสิทธิ์เพียงคนเดียว เนื่องจากได้หย่าร้าง แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ซึ่งในขั้นตอนถัดไปเจ้าหน้าที่ธนาคารจะเป็นผู้พิจารณาความสามารถในการผ่อนต่อของผู้กู้ต่อไปค่ะ

2. ถอดถอนชื่อผู้กู้ร่วม กรณีจดทะเบียนสมรส

สำหรับการถอดถอนชื่อผู้กู้ร่วม กรณีจดทะเบียนสมรสนั้นหลังจากที่เจรจาตกลงจบความสัมพันธ์และเซ็นใบหย่าเรียบร้อยแล้วนั้น ฝ่ายที่ตกลงจะผ่อนบ้านต่อให้นำใบหย่าและสำเนาสัญญาจะซื้อจะขายไปที่ธนาคารที่ได้ทำการขอสัญญากู้ร่วมไว้ค่ะ โดยสามารถแจ้งความประสงค์ได้เลยว่าต้องการถอดถอนชื่อคู่รักที่เลิกรากันไปแล้ว ออกจากสัญญากู้ร่วมค่ะ ซึ่งในขั้นตอนต่อไปเจ้าหน้าที่ธนาคารจะทำการเปลี่ยนรูปแบบสินเชื่อที่อยู่อาศัย และ ทำสัญญาเงินกู้ให้ใหม่ค่ะ

3. รีไฟแนนซ์จากการกู้ร่วมเป็นกู้คนเดียว

สำหรับข้อนี้นะคะ เป็นทางออกของผู้ที่ยื่นขอถอดถอนชื่อคู่รักออกแล้ว แต่ไม่สามารถทำได้เนื่องจากธนาคารจะพิจารณาแล้วว่าผู้กู้ไม่สามารถชำระหนี้ที่เหลือได้เพียงคนเดียว การรีไฟแนนซ์กับธนาคารจึงเป็นทางออกอีกทางค่ะ โดยทำเรื่องขอกู้ที่อยู่อาศัยเพียงผู้เดียว จากนั้นทางธนาคารจะเป็นผู้ที่พิจารณาความสามารถในการชำระหนี้จากหัวข้อดังต่อไปนี้ค่ะ

3.1. พิจารณาจากรายได้ของผู้กู้

3.2. ดูยอดดาวน์ที่กู้ซื้อบ้าน

3.3. เช็คภาระหนี้ต่อเดือนของผู้กู้

3.4. ประวัติเครดิตบูโรหรือแบล็คลิสต์

4. ประกาศขายบ้าน และ แบ่งทรัพย์สินให้เท่าๆ กัน

และสำหรับคู่ที่ไม่ต้องการบ้านหลังดังกล่าวแล้วนะคะ การขายบ้านเพื่อแบ่งทรัพย์สินนั้นเป็นทางออกที่ดีที่สุดแล้วค่ะ โดยก่อนที่จะทำการขายบ้านนั้นจะต้องมีการตรวจสภาพบ้าน และ ต้องชำระค่าธรรมเนียมต่างๆให้เรียบร้อยด้วยนะคะ ซึ่งค่าธรรมเนียมจะประกอบไปด้วย

4.1. ค่าธรรมเนียมการโอน

4.2. ค่าอากรแสตมป์

4.3. ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย

4.4. ภาษีธุรกิจเฉพาะ

เป็นอย่างไรบ้างคะกับการกู้ร่วมของ “คู่รัก LGBTQ+” ซึ่งน้อง Genie มองว่าในปัจจุนี้นั้นประเทศไทยได้เปิดกว้างกับเพศทางเลือกมากขึ้น ทำให้ความต้องการที่จะสร้างครอบครัวนั้นมีมากขึ้น หนึ่งในนั้นก็คือ “บ้าน” นั่นเองค่ะ การที่กลุ่มคู่รักเพศทางเลือกนั้นต้องการร่วมกู้ซื้อบ้านมีโอกาสน้อยมากๆ เลย อันเนื่องมาจากว่าในประเทศไทยนั้นยังไม่รองรับการจดทะเบียนสมรสในกลุ่ม LGBTQ+ นั่นเองค่ะ แต่แล้วก็ยังมีหลายๆ ธนาคารได้มีการอนุมัติสินเชื่อเพื่อให้ตรงกับความต้องการของกลุ่มเพศทางเลือกมากยิ่งขึ้น และที่สำคัญยังมีโปรโมชันพิเศษให้อีกด้วยค่ะ

น้อง Genie หวังเป็นอย่างยิ่งว่าในบทความนี้จะช่วยเป็นความรู้และตัดสินใจในการเลือกซื้อบ้านของเพื่อนๆได้ ไม่มากก็น้อยนะคะ ที่สำคัญหากเพื่อนๆ ตัดสินใจเลือกซื้อบ้านภายในปีนี้แน่นอนค่ะ คุ้มยิ่งกว่าเพราะภายในปี 2565 นั้นทางรัฐบาลเค้ามี มาตรการกระตุ้นอสังหาฯปี 2565 คนอยากมีบ้านห้ามพลาด!! เด็ดขาดเลยค่ะ

เพื่อนๆสามารถติดตามและให้กำลังใจทีมงานนักเขียนทุกท่านผ่านการ “กดถูกใจ” ได้ที่ Facebook Fanpage ข้างล่างนี่เลยนะคะ

LINE: @genie-property.com

FACEBOOK: Genie-Property.com

EMAIL: sales@genie-property.com

CALL CENTRE: 093-232-9888,064-931-8666

Website : www.genie-property.com

ขอบคุณข้อมูลจาก

sansiri , sansiri

bangkokassets

dd property