“สะพานเขียว” โฉมใหม่ใจกลางเมือง จุดเช็คอินที่ไม่มา ถือว่าพลาดดอย่างแรงส์
สร้างเมื่อ Mar 14, 2022
น้อง Genie เชื่อว่าหลายท่านคงจะรู้สึกคุ้นกับชื่อ “สะพานเขียว” เป็นอย่างดีเนื่องจากว่าสะพานแห่งนี้เป็นพื้นที่ทางเดินลอยฟ้าที่เชื่อมกับสวนลุมพินี และ สวนเบญจกิติ ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ ปี 2542 แต่ทว่ามีสภาพที่เก่า และ ทรุดโทรมทำให้ไม่ค่อยมีคนนิยมไปสถานที่แห่งนี้ อีกปัจจัยหลักเลยก็คือ สะพานแห่งนี้มีความยาว 1.6 กม. แต่ทางขึ้น - ลง นั้นมีเพียง 3 จุด ในช่วงเวลากลางคืนค่อนข้างเปลี่ยว เพราะไม่มีไฟฟ้าส่องสว่างเพียงพอ อาจจะทำให้ผู้ที่สัญจรผ่านไป - มารู้สึกถึงความไม่ปลอดภัย ซึ่งการปรับปรุง แปลงโฉม “สะพานเขียว” ในครั้งนี้จะเลิศหรู อลังการงานสร้างขนาดไหนน ไปอ่านเลยค่าาาา
ขอบคุณภาพจาก wongnai
จุดเริ่มต้นในการพัฒนาและปรับปรุงพื้นที่ “สะพานเขียว”
โครงการสะพานเขียว คือ โครงการปรับปรุงและฟื้นฟูสภาพสะพานคอนกรีตเก่า และ พื้นที่ริมคลองไผ่สิงโต โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากถนนรัชดาภิเษก เชื่อมต่อลัดเลาะตามแนวรอยต่อระหว่างสวนเบญจกิติ กับ คลองไผ่สิงโต พาดผ่านเส้นทางพิเศษเฉลิมมหานครและชุมชนโปโล-ชุมชนรวมฤดี และมาจบที่สวนลุมพินีบริเวณแยกสารสินของถนนวิทยุ ซึ่งมีความยาวกว่า 1.6 กม.ค่ะ
โดยจุดเริ่มต้นโครงการนี้นะคะ เริ่มเมื่อปี 2562 ซึ่งสำนักการโยธา กทม., ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) และสตูดิโอใต้หล้า ได้มีการพูดคุยหารือ เรื่องการปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างของ “สะพานเขียว” เนื่องจากว่า พื้นที่นี้เป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการก่ออาญชากรรมทางเพศ เป็นอับดับต้นๆของกรุงเทพฯ สืบเนื่องมาจากพื้นที่ของ “สะพานเขียว” นั้นมีจุดอับ สภาพเสื่อมโทรม ทั้งบนสะพาน และใต้สะพานนั่นเองค่ะ
และจากการปรึกษาหารือการปรับปรุงสะพานดังกล่าวนั้นพบว่า โครงการนี้มีขนาดใหญ่และซับซ้อนมาก ทางสำนักการโยธา กทม., ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS), ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมแสงสว่าง (LRIC) และบริษัท สตูดิโอ ใต้หล้า จำกัดจึงจับมือร่วมกับ 4 บริษัทด้านการออกแบบและสถาปนิคได้แก่
- บริษัท อะตอม ดีไซน์ จำกัด
- บริษัท แลนด์สเคปคอลลาบอเรชัน จำกัด
- บริษัท วิศวกรรมและสถาปนิก คิวบิค จำกัด
- บริษัท ไทย-ธรรม ดีเวล๊อปเม้นต์ จำกัด
มาอาสาดูแลเรื่องการออกแบบโครงสรร้างต่างๆให้อีกแรงค่ะ
ขอบคุณภาพจาก FB: ผู้ว่าฯ อัศวิน
เป้าหมายในการปรับปรุง “สะพานเขียว”
เป้าหมายในการปรับปรุง “สะพานเขียว” ในครั้งนี้นะคะ เรียกได้ว่าเป็นการสร้าง “สถานที่แห่งใหม่ของเมือง” ที่จะเชื่อมต่อเมือง และ เชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกัน ซึ่งสามารถแบ่งการเชื่อมโยงได้ 4 ระดับ ดังนี้
1.เพื่อเชื่อมต่อย่านศูนย์กลางของเศรษฐกิจ คือ ถนนรัชดาภิเษก และถนนวิทยุ
2.เพื่อเชื่อมโยงระบบนิเวศน์ของ 2 สวนสาธารณะที่ใหญ่ระดับเมือง
3.เพื่อเชื่อมโยงการสัญจรด้วยทางเดินเท้า และ ทางจักรยานแบบเท่าเทียมกัน เพื่อสามารถให้ใช้งานได้ทุกเพศทุกวัย จากโครงสร้างแบบอารยสถาปัตย์ (universal design)
4.เพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้เกิดการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดี
ขอบคุณภาพจาก Uddc
ซึ่งโครงการ “สะพานเขียว” นั้นแบ่งพื้นที่ออกแบบได้เป็น 5 ส่วนดังนี้
1.ส่วนคลองไผ่สิงโต
พื้นที่ส่วนแรกนะคะจะเป็นการปรับปรุงพื้นที่ริมคลองไผ่สิงโตที่มีความยาวกกว่า 700 เมตร เพื่อให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งการเรียนรู้ ซึ่งอยู่ใกล้กับสวนเบญจกิติและโรงงานยาสูบค่ะ ภายในคลองนะคะจะเต็มไปด้วยพืชพรรณไม้ที่มีศักยภาพในการช่วยบำบัดน้ำเสีย และที่พิเศษไปมากกว่านั้นคือทางเดินจะเป็นแบบทางเดินลอยน้ำที่มีความยืดหยุ่นไปตามระดับน้ำค่ะ
ขอบคุณภาพจาก กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์
2.ส่วนพื้นที่บนสะพานสกายวอร์กคอนกรีต
พื้นที่ส่วนที่สองนะคะ จะเป็นการปรับสะพานสกายวอร์กคอนกรีตที่ร้อนและแห้งแล้ง ให้เป็นพื้นที่ที่สามารถเดิน นั่ง ออกกำลังกาย หรือขี่จักรยานจากสวนเบญจกิติไปยังสวนลุมพินีได้ด้วยค่ะ อีกทั้งยังเพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วยพุ่มไม้ และพรรณไม้ที่เหมาะกับสภาพอากาศ และยังมีแพลนที่จะเพิ่มอัฒจันทร์ไว้สำหรับรับชมทัศนียภาพ 2 ข้างทางอีกด้วยค่ะ
ขอบคุณภาพจาก กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์
3.พื้นที่ใต้สะพาน
พื้นที่ส่วนที่สามนะคะ จะเป็นในส่วนของพื้นที่ใต้สะพานที่อยู่เหนือคลองไผ่สิงโตค่ะ ซึ่งการปรับปรุงนั้นจะเน้นให้มีแสงสว่างตลอดทั้งคืน และเป็นที่โปร่งโล่ง สามารถนั่งพัก หรือผ่อนคลายได้ เนื่องจากว่าในโซนนี้เป็นจุดอับ และเปลี่ยวมากในช่วงเวลากลางคืนค่ะ และนอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงคุณภาพน้ำในคลองให้มีคุณภาพดี โดยเชื่อมโยงกับระบบบำบัดน้ำระบบใหญ่ของกรุงเทพมหานครนั่นเองค่ะ
ขอบคุณภาพจาก กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์
4.พื้นที่บนสะพานลอย
มาถึงพื้นที่ในส่วนที่สี่กันแล้วนะคะ โดยส่วนนี้นั้นจะเป็นการปรับปรุงสะพานลอยถนนรัชดา, ทางลอยฟ้าเหนือทางพิเศษเฉลิมมหานคร และ สะพานลอยข้ามแยกถนนวิทยุ-สารสิน เพื่อให้เป็นทางเข้าโครงการ “สะพานเขียว” ที่เป็นจุดเด่นเพื่อให้ผู้คนจดจำสถานที่แห่งนี้ค่ะ และที่พิเศษอีกอย่างหนึ่งคือเกือบทั้งสะพานลอยนั้นจะถูกปกคลุมไปด้วยโครงสร้างที่โปร่งเบา สามารถกันแดด และฝนได้เป็นระยะๆ และมีรูปร่างที่สวยงามแปลกตาค่ะ
ขอบคุณภาพจาก กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์
5.งานไฟฟ้า และ แสงสว่าง
มาถึงพื้นที่ในส่วนสุดท้ายแล้วนะคะ ซึ่งพื้นที่ในส่วนนี้นั้นจะเป็นการปรับปรุงด้วยการออกแบบแสงสว่างให้กลมกลืนกับพื้นที่โดยรอบ พร้อมทั้งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมบนสะพาน และ เพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ใช้งานมากยิ่งขึ้นค่ะ
ขอบคุณภาพจาก กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์
จุดเชื่อมต่อแต่ละสถานที่
เนื่องจากว่า กรุงเทพมหานคร เป็นผู้ดูแลโครงการสวนลุมพินี และ กรมธนารักษ์ เป็นผู้ดูแลสวนเบญจกิติ มีความเห็นว่าอยากที่จะให้ทั้ง 3 โครงการมีจุดเชื่อมต่อเข้าหากัน ดังนั้นทีมออกแบบทั้งหมดจึงออกแบบจุดเชื่อมต่อที่สำคัญกับทั้ง 3 โครงการ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้ดังนี้ค่ะ
1. บริเวณรอยต่อของสวนเบญจกิตติกับคลองไผ่สิงโต ออกแบบให้มีความต่อเนื่อง เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งการเรียนรู้คลองไผ่สิงโตค่ะ
ขอบคุณภาพจาก กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์
2. รอยต่อกับทางเข้าจากซอยสุขุมวิท 4 และสุขุมวิท 10 ให้สาธารณะสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก และปรับปรุงให้มีความสวยงามมากยิงขึ้นค่ะ
ขอบคุณภาพจาก กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์
3. จุดข้ามทางพิเศษเฉลิมมหานคร ออกแบบให้มีทางลาดและทางเดินลอยฟ้าที่ผู้คนสามารถเดินเท้าและขี่จักรยานเข้าไปได้อย่างสะดวกค่ะ
4. สวนลุมพินี ออกแบบให้มีลานคนเมืองลอยฟ้าขนาดย่อม สำหรับจัดกิจกรรมเทศกาลต่างๆ และเชื่อมโยงเข้าสู่พื้นที่สวนลุมพินีที่กำลังจะมีการปรับปรุงต่อไปนั่นเองค่ะ
เรียกได้ว่าเป็นในแต่ละจุดนั้นสามารถเชื่อมโยงเพื่อไปสวนสาธารณะทั้ง 2 แห่งได้อย่างลงตัวเลยค่ะ ที่สำคัญระหว่างทางก็ยังมีจุดที่ให้พักผ่อน หรือชมวิวไปในตัว แบบนี้ต้องถูกใจสายรักธรรมชาติ หรือ สายวิ่งแน่นอนค่ะ
ในขณะเดียวกันนั้นฝั่งตรงข้ามของสวนลุมพินี จะมีอีกจุดนึงที่เรียกได้ว่าเป็นเป็นแลนด์มาร์กระดับโลกเลยก็ว่าได้ เพราะว่าโครงการนี้หากสร้างเสร็จแล้วนั้น ก็จะขึ้นชื่อว่าเป็น ตึกสูงที่สุดในประเทศไทย และ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความสูงที่ 437 เมตร นั่นคือ “ Signature Tower ” นั่นเองค่ะ โดยหากมองจากโครงการก็จะเห็นวิวทิวทัศน์ของ “สะพานเขียว” ในส่วนของสวนลุมพินีอย่างชัดเจน ซึงโครงการนี้มีชื่อว่า One Bangkok ฮั่นแน่ ^^ หากอยากทราบรายละเอียดที่ชัดเจนนั้น สามารถเข้าไปอ่านเพิ่มเติมได้เลยค่าาา
โดยกำหนดการที่คาดว่าสถานที่แลนด์มาร์กแห่งใหม่นี้จะแล้วเสร็จนั้นอยู่ในช่วงเดือน กันยายน 2565 อีกไม่นานเกินรอค่ะ
การเดินทาง
สำหรับการเดินทางมาที่ “สะพานเขียว” แห่งนี้นะคะก็ไม่ยาก มีให้เลือกหลากหลายวิธีเลยค่ะ
- สำหรับรถยนต์ส่วนตัวนะคะ สามารถนำรถจอไว้ได้ที่ข้างโรงเรียนสวนลุมพินี ถนนวิทยุได้เลยค่ะ
- รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สามารถนั่งมาลงที่สถานีสวนลุมพินี จากนั้นต้องเดินเท้าไปทางถนนวิทยุประมาณ 750 หรือสามารถนั่งรถแท็กซี่ หรือวินมอเตอร์ไซค์ มาก็ได้ค่ะ
- รถไฟฟ้า BTS สามารถนั่งมาลงที่สถานีเพลินจิต จากนั้นให้เรียกวินมอเตอร์ไซค์เพื่อไปที่ถนนวิทยุมีระยะทางประมาณ 1 กม.
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ สำหรับ “โครงการสะพานเขียว” ที่นำมาฝากกันในวันนี้ ต้องบอกก่อนเลยว่าเป็นโครงการที่ได้รับความเห็นชอบจากประชาชนโดยรอบพื้นที่ในการปรับปรุงพื้นที่สะพานเขียวให้ดีกว่าเดิม และเป็นสร้างพื้นที่สีเขียวเพิ่มมากขึ้นด้วยค่ะ
สำหรับน้อง Genie นะคะคิดว่าแผนการปรับปรุง “สะพานเขียว” แห่งนี้ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโครงการของ “โครงการกรุงเทพฯ 250“ ที่จะเปลี่ยนเมืองเก่าของกรุงเทพให้เป็นเมืองที่น่าอยู่เพิ่มขึ้น และเนื่องจากว่าโครงการนี้มีการเชื่อมต่อกับ 2 สวนสาธารณะที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆของกรุงเทพมหานคร ระหว่างทางเดิน หรือทางผ่านจะเป็นจุดที่สามารถพักผ่อนหย่อนใจ ออกกำลังกายโดยการวิ่ง หรือ ปั่นจักรยาน เหมาะสมกับคนทุกเพศทุกวัย รับรองเลยค่ะว่าถ้าหากสถานที่แห่งนี้ปรับปรุงเสร็จเรียบร้อยแล้วละก็ จะเป็นจุดเช็คอินให้ทุกคนมาร่วมกันสร้างแลนด์มาร์กอย่างล้นหลามแน่นอนค่ะ
และหากว่าตัวโครงการ “สะพานเขียว” เสร็จเรียบร้อยแล้วนั้นน้อง Genie ก็จะไม่พลาดที่จะรีบนำภาพบรรยากาศโดยรอบของมาอัปเดตให้ทุกท่านได้รับชมกันที่บทความนี้ค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก
1. Time Out
2. matichon
3. ฐานเศรษฐกิจ
4. The Urbanis