ชาวต่างชาติยื่นขอ “ทะเบียนบ้าน” ต้องใช้เอกสารอะไรบ้างนะ??

สร้างเมื่อ Jul 2, 2022

เพื่อนๆ เคยสงสัยกันบ้างไหมคะ ว่าทะเบียนบ้านที่เรามีชื่ออยู่ในนั้นมีอยู่ทั้งหมดกี่ประเภท แล้วถ้ามีชาวต่างชาติเข้ามาซื้อห้องชุด หรือ คอนโด บุคคลนั้นจะสามารถมีทะเบียนบ้านได้เหมือนคนไทยเลยหรือไม่ วันนี้น้อง Genie จะมาไขข้อสงสัยให้เพื่อนๆ ได้หายสงสัย เอ๊ะยังไงง >< เอาเป็นว่าถ้าพร้อมแล้วมาดูกันเลยค่าาา

undefined

1. ความหมายของ “ทะเบียนบ้าน”

ทะเบียนบ้าน คือ เอกสารประจำบ้านซึ่งจะมีการแสดงรหัสประจำบ้าน รายชื่อคนที่อยู่ในบ้านทั้งหมด และจะสามารถบ่งบอกได้ว่าใครเป็นเจ้าบ้าน และใครเป็นผู้อาศัย ซึ่งทะเบียนบ้านนั้นจะแสดงรายละเอียดของแต่ละบุคคลอย่างละเอียด เช่น ชื่อ-นามสกุล, ชื่อบิดา - มารดา, เลขบัตรประจำตัวประชาชน, วัน เดือน ปีเกิด ฯลฯ

โดยในทะเบียนบ้านนั้นจะมีจำนวนผู้อยู่อาศัยทั้งหมดกี่คนก็ได้ แต่จะต้องไม่เกินกับขนาดของบ้าน ซึ่งตาม พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ศ. 2535 จะกำหนดให้มีคนอยู่อาศัยได้ 1 คน ต่อขนาดพื้นที่ 3 ตารางเมตร แต่ผู้เป็นเจ้าบ้านนั้นจะสามารถมีได้แค่คนเดียวเท่านั้นค่ะ ทั้งนี้เจ้าบ้าน และ เจ้าของบ้าน นั้นจะมีความหมาย และ หน้าที่ที่แตกต่างกันดังนี้ค่ะ

  • เจ้าของบ้าน หมายถึง เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่มีชื่ออยู่ใน โฉนดที่ดิน สัญญาซื้อขาย ซึ่งจะมีหน้าที่ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังนี้

👉 มีสิทธิ์ในการปล่อยเช่า ปล่อยขาย โอนบ้าน และ ที่ดิน ที่ครอบครองได้

👉 สามารถโอนถ่ายเป็นมรดกให้ลูกหลานเป็นเจ้าของบ้านได้

โดยทะเบียนบ้านนั้นจะมีทั้งหมด 5 ประเภทด้วยกันค่ะ ได้แก่

1. ทะเบียนบ้าน แบบ ท.ร.14

ใช้สำหรับคนที่มีสัญชาติไทย และ คนต่างด้าวที่มีใบสำคัญประจำตัว

2. ทะเบียนบ้าน แบบ ท.ร. 13

ใช้ลงรายการของคนต่างด้าวที่เข้าเมืองอย่างถูกกฎหมายแต่อยู่ในลักษณะชั่วคราว หรือ คนที่เข้ามาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

3. ทะเบียนบ้านกลาง

เป็นทะเบียนที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนดให้จัดทำขึ้น เพื่อลงรายชื่อของคนที่ไม่สามารถมีชื่อในทะเบียนบ้านได้

4. ทะเบียนบ้านชั่วคราว

ออกให้กับบ้านที่สร้างในที่สาธารณะ โดยที่ไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย แต่สามารถใช้เป็นเอกสารราชการได้ และผู้ที่มีชื่อในทะเบียนนี้สามารถใช้สิทธิ์ได้เหมือนที่อยู่ในทะเบียนบ้านทั่วไป

โดยในบทความนี้น้อง Genie จะพามาทำความรู้จักกับ ทะเบียนบ้านแบบ ท.ร. 13 (สีเหลือง) และ ทะเบียนบ้านแบบ ท.ร.14 (สีน้ำเงิน) กันค่ะ ซึ่งจะมีความเหมือน หรือ แตกต่างกันอย่างไรบ้างนั้น ไปที่หัวข้อต่อไปกันเลยค่าาา

undefined

2. ความแตกต่างของ “ทะเบียนบ้านสีเหลืองกับสีน้ำเงิน”

1. ทะเบียนบ้านแบบ ท.ร. 13 (เล่มสีเหลือง)

undefined

ขอบคุณภาพจาก steemit

สำหรับทะเบียนบ้านแบบ ท.ร.13 หรือ ทะเบียนบ้านเล่มสีเหลืองนะคะจะใช้สำหรับให้ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และมีหนังสือเดินทางเข้าประเทศไทยที่ยังไม่หมดอายุ ซึ่งชาวต่างชาติที่มีสิทธิ์ขอ ท.ร.13 นั้นจะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ค่ะ

  • กรณีที่สมรสกับผู้ที่มีสัญชาติไทย
  • กรณีที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์ และ มีชื่อของตนเองเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์

ซึ่งถ้าหากนอกเหนือจากกรณีด้านบนแล้วนั้น หากมีความจำเป็น หรือ ต้องการที่จะยื่นขอ ท.ร.13 นั้นจะต้องให้ทางเจ้าบ้านเป็นผู้ดำเนินการกับทางเขต หรือ พื้นที่อำเภอของทะเบียนบ้านนั้นๆ โดยจะต้องผ่านการสัมภาษณ์จากเจ้าหน้าที่ถึงเหตุผลที่ต้องการให้ชาวต่างชาติเข้าอยู่นั้นเองค่ะ

เมื่อชาวต่างชาติยื่นขอ ท.ร.13 ได้แล้วนั้นจะสามารถทำนิติกรรมภายในประเทศไทยได้ยกตัวอย่างเช่น การทำใบขับขี่, ทำเอกสารสัญญาต่างๆ หรือแม้กระทั่งการขอ PR หรือเรียกง่ายๆว่าการขอสัญชาตินั่นเองค่ะ เท่านั้นยังไม่พอนะคะการมี ท.ร.13 นั้นจะยังช่วยให้สามารถทำเอกสารบัตรประจำตัวชาวต่างชาติ หรือ บัตรชมพูได้อย่างรวดเร็ว และ ง่ายดายมากๆเลยค่ะ

2. ทะเบียนบ้านแบบ ท.ร.14 (สีน้ำเงิน)

undefined

ขอบคุณภาพจาก Kapook

สำหรับทะเบียนบ้านแบบ ท.ร.14 หรือ ทะเบียนบ้านเล่มสีน้ำเงินนะคะจะใช้สำหรับให้บุคคลที่มีสัญชาติไทยตามที่เราเห็นกันโดยทั่วไปนั่นเองค่ะ ซึ่งจะมี “เจ้าบ้าน” ที่เป็นหัวหน้าครอบครัวจะมีหน้าที่ดูแลบ้านหลังดังกล่าว ซึ่ง “เจ้าบ้าน” นั้นไม่จำเป็นจะต้องเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน หรือบ้านหลังนั้นก็ได้ จะเป็นผู้เช่า หรือ ในฐานะอื่นก็ได้

เมื่อมีเหตุการณ์ หรือ กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับผู้อาศัย “เจ้าบ้าน” มีหน้าที่ที่จะต้องแจ้งต่อนายทะเบียนภายในระยะเวลา 15 วัน ยกเว้นหากมีผู้เสียชีวิตจะต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ภายใน 24 ชั่วโมงค่ะ

โดยทะเบียนบ้านชนิดนี้ไม่สามารถนำไปใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้นะคะ เนื่องจากว่าตามกฎหมาย และ ตามหลักเกณฑ์ของกรมที่ดินหลักทรัพย์ค้ำประกันจะต้องเป็น “โฉนดที่ดิน” หรือ “หนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด” เท่านั้น

ซึ่งหลังจากที่เรามีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านครบ 1 ปี แล้วนั้นเราจะสามารถขายบ้าน หรือ คอนโดมิเนียมที่เราครอบครองไว้ได้โดยที่ไม่เสียค่าธุรกิจเฉพาะนั่นเองค่ะ

undefined

3. เอกสารที่ต้องเตรียมเพื่อใช้ยื่นขอ “ท.ร.13”

สำหรับชาวต่างชาติที่ต้องการยื่นขอ ท.ร.13 นะคะจะแบ่งได้เป็น 2 กรณีดังนี้ค่ะ

1. กรณีชาวต่างชาติที่สมรสกับผู้มีสัญชาติไทย

  • หนังสือเดินทางฉบับจริง
  • สำเนาหนังสือเดินทางที่รับรองโดยสถานทูตและแปลเป็นภาษาไทยและรับรองโดยสถานกงสุลไทย
  • ใบอนุญาตทำงานในประเทศไทย (กรณีทำงานในประเทศไทย)
  • ทะเบียนสมรส
  • สูติบัตรบุตร (กรณีมีบุตร)
  • รูปถ่าย 1.5 นิ้วจำนวน 2 รูป
  • บัตรประชาชนตัวจริงของเจ้าบ้าน
  • บัตรประชาชนตัวจริงของคู่สมรส
  • ทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านเล่มจริง
  • สำเนาทะเบียนบ้าน (เตรียมมาเผื่อ)
  • พยานบุคคลพร้อมบัตรประชาชน อย่างน้อย 2 คน (พยานควรเป็นคนที่รู้จักกัน)

เอกสารดังกล่าวต้องให้ทั้ง “เจ้าบ้าน” และ “ชาวต่างชาติ” เตรียมมาให้ครบถ้วนนะคะ

**คู่สมรสชาวไทยต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเดียวกันเท่านั้น**

2. กรณีที่ชาวต่างชาติซื้ออสังหาริมทรัพย์และมีชื่อตนเองเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์

  • หนังสือเดินทางฉบับจริง
  • สำเนาหนังสือเดินทางที่รับรองโดยสถานทูตและแปลเป็นภาษาไทยและรับรองโดยสถานกงสุลไทย
  • ใบอนุญาตทำงานในประเทศไทย (กรณีทำงานในประเทศไทย)
  • ท.ร.14 ฉบับภาษาไทย
  • หนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ห้องชุด และ หนังสือสัญญาซื้อขาย อช. 23
  • รูปถ่าย 1.5 นิ้วจำนวน 2 รูป
  • พยานบุคคลพร้อมบัตรประชาชน อย่างน้อย 2 คน (พยานควรเป็นคนที่รู้จักกัน)
  • เอกสารอื่นๆ (ถ้ามี) เช่น ใบขับขี่ วุฒิการศึกษา กรีนการ์ด
  • รูปถ่ายหน้าบ้านให้เห็นหมายเลขบ้าน และในห้องหรือในบ้านที่พักอาศัยจริง

ในการเตรียมเอกสารสำหรับการยื่นขอ ท.ร.13 เบื้องต้นนั้นในแต่ละอำเภอ หรือ จังหวัดอาจจะมีการขอเอกสารเพิ่มเติมน้อง Genie แนะนำว่าควรโทรสอบถามกับทางสำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลานะคะ

undefined

4. ขั้นตอนในการดำเนินการยื่นขอ ท.ร.13

สำหรับขั้นตอนการดำเนินการนะคะ สามารถจำแนกได้เป็นข้อๆ ดังต่อไปนี้

1. นำเอกสารทั้งหมดที่เราเตรียมมา ไปยื่นให้เจ้าหน้าที่

2. เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบความเรียบร้อย และ ความสมบูรณ์ของเอกสารทั้งหมด จากนั้นจะนัดวันสัมภาษณ์เจ้าบ้าน และ ชาวต่างชาติที่ต้องการใส่ชื่อเป็นผู้อาศัย และพยาน (หรือบางเขตก็จะทำการสัมภาษณ์ในวันเดียวกันเลย หากเตรียมเอกสารและพยานบุคคลมาพร้อมค่ะ)

3. เมื่อสัมภาษณ์เสร็จแล้ว หากเอกสารถูกต้องและไม่มีปัญหาอะไร เจ้าหน้าที่จะแจ้งระยะเวลาการออกทะเบียนบ้านเล่มเหลือง และจะนัดวันให้ไปรับเล่ม ท.ร.13 หรืออาจมีการขอเบอร์ติดต่อไว้ เพื่อแจ้งให้มารับเล่มนั่นเองค่ะ

สำหรับระยะเวลาในการดำเนินการนะคะ จะใช้เวลาประมาณ 7 วันทำการ ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับพื้นที่เขต หรือ อำเภอนั้นๆด้วยค่ะ

แต่สำหรับในเขตของกรุงเทพมหานครนั้นจะใช้เวลาทำการประมาณ 3 - 5 วันเนื่องจากเจ้าหน้าที่มีการคุ้นชินในการทำเอกสารอยู่แล้วนั่นเองค่ะ

สถานที่ที่ให้บริการ / ติดต่อ

  • ให้ติดต่อสำนักงานเขตที่อาศัยอยู่ต่างจังหวัด
  • สำนักทะเบียนอำเภอ
  • สำนักทะเบียนท้องถิ่น

เป็นอย่างไรกันบ้างคะเพื่อนๆ หายสงสัยกันแล้วใช่ไหมเอ่ยยยย >< น้อง Genie มองว่าการที่ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยนั้นมีทะเบียนบ้านไว้ในครอบครอง จะสามารถทำให้ทำธุรกรรมต่างๆ ได้อย่างง่ายดายไม่ว่าจะเป็น การทำใบขับขี่ การเปิดบัญชีธนาคาร หรือการธุรกรรมในรูปแบบอิ่นๆอีกมากมาย

เพราะส่วนใหญ่แล้วนั้นชาวต่างชาติที่เข้ามาจะถือครองแค่หนังสือเดินทางนั่นอาจจะทำให้ชาวต่างชาติถูกจำกัดสิทธิต่างๆได้นั่นเองค่ะ

น้อง Genie หวังเป็นอย่างยิ่งว่าในบทความนี้จะช่วยให้เพื่อนๆ สามารถนำความรู้ที่ได้ไปบอกต่อกับญาติพี่น้อง หรือคนรู้จักที่ต้องการมีทะเบียนบ้านแบบ ท.ร.13 ได้ไม่มากก็น้อยนะคะ

และเพื่อนๆสามารถติดตามและให้กำลังใจทีมงานนักเขียนทุกท่านผ่านการ “กดถูกใจ” ได้ที่ Facebook Fanpage ข้างล่างนี่เลยนะคะ

LINE: @genie-property.com

FACEBOOK: Genie-Property.com

EMAIL: sales@genie-property.com

CALL CENTER: 093-232-9888,064-931-8666

Website : www.genie-property.com

บทความที่น่าสนใจ

  1. 19 คอนโดใหม่ติดรถไฟฟ้า ราคาไม่เกิน 2 ล้าน ปี 2564
  2. 13 อภิมหึมามหาโปรเจกต์ยักษ์ใหญ่ของประเทศไทย
  3. คนอยากมีบ้านห้ามพลาด!! กับมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ปี 2565

ขอบคุณข้อมูลจาก

acuterealty

landprothailand

กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย