ผ่อนคอนโด/บ้านไม่ไหว อย่าเพิ่งท้อ!! เปิด 13 วิธีขอประนอมหนี้กับธนาคาร

สร้างเมื่อ Sep 10, 2022

ปัญหาของคนที่กำลังผ่อนคอนโด หรือ ผ่อนบ้านไม่อยากเจอ คงจะหนีไม่พ้นวันที่เรา “ผ่อนต่อไม่ไหว” ถูกต้องไหมคะ โดยคนส่วนใหญ่นั้นอาจจะคิดแค่ว่า ถ้าผ่อนไม่ไหวก็ปล่อยให้ถูกยึดไปเลยสิ ดีกว่าจะต้องมานั่งเป็นหนี้ก้อนโต แต่ แต่ ไม่ใช่ทางออกที่ดี เพราะนอกจากเราจะโดนยึดบ้านแล้วนั้น อาจจะต้องชดใช้ในส่วนที่ขาดด้วย แต่ไม่ต้องห่วงค่ะวันนี้น้อง Genie เตรียมวิธีแก้ปัญหามาฝากเพื่อนๆ ถึง 13 วิธี จะมีวิธีไหนบ้างนั้นมาติดตามกันเลยค่าา

undefined

1. ผ่อนคอนโด/บ้านไม่ไหว ทำไงดี??

ในช่วงที่ผ่านมานั้นหลายคนประสบปัญหาจากการมาเยือนของโรคระบาด ไวรัสโควิด-19 อาจจะทำให้เพื่อนๆ หลายคนตกงาน ไม่มีรายได้ และบวกกับเศรษฐกิจแบบนี้ที่ค่าครองชีพสูงขึ้น ไหนจะค่าจิปาถะเช่น ค่ารถ ค่าน้ำมัน ค่ากิน บลาบลาบลา อาจจะทำให้หลายคนประสบปัญหาทางด้านการเงิน และถ้าหากเราเป็นคนที่มีภาระอันใหญ่หลวง นั่นคือการผ่อนคอนโด หรือ ผ่อนบ้านอยู่แล้วด้วย นี่อาจจะเป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุดเลยก็เป็นได้ค่ะ

สิ่งแรกที่เราควรทำเมื่อรู้ว่าเราไม่สามารถผ่อนคอนโด หรือ บ้านต่อได้แล้วคือเดินทางไปคุยกับสถาบันการเงิน หรือ ธนาคารเจ้าของหนี้ของเรานั้นเองค่ะ เพื่อขอประนีประนอมหนี้ไปก่อน ซึ่งน้อง Genie ก็มีวิธีแก้ปัญหาที่จะขอประนีประนอมกับทางธนาคารมาให้เพื่อนๆ ไว้เป็นทางเลือกถึง 13 วิธี หากเพื่อนๆ หรือ คนรู้จักที่กำลังตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ อย่าเพิ่งท้อใจไปคะ ทุกปัญหาย่อมมีทางออกเสมอค่ะ

undefined

2. การประนอมหนี้คืออะไร

การประนอมหนี้ คือ การขอเจรจาเพื่อขอเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเรื่องหนี้สินกับเจ้าหนี้ เช่น การขอลดหย่อน ขอผ่อนผัน หรือ ขอปรับเปลี่ยนข้อตกลง เพื่อที่จะช่วยชะลอเวลา หรือหยุดการดำเนินการใดๆ จากเจ้าหนี้ไม่ว่าจะ ฟ้องร้อง และ ยึดทรัพย์สิน อันเนื่องมาจากที่เราผิดนัดชำระหนี้ และที่สำคัญ เป็นการช่วยลดภาระในการชำระหนี้ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ลูกหนี้กำลังตกอยู่ในสภาวะขาดสภาพคล่องทางการเงินนั่นเองค่ะ

2.1. ข้อดี ของการประนอมหนี้

สำหรับข้อดีของการประนอมหนี้ก็คือ เพื่อนๆ สามารถยืดระยะเวลาในการชำระหนี้ออกไปได้อีก ในกรณีที่เรานั้นไม่สามารถชำระได้ตามสัญญาหากเพื่อนๆ ได้รับการประนอมหนี้สำเร็จ ก็จะไม่ถูกฟ้องร้อง และไม่ต้องถูกพิพากษาให้ล้มละลาย ในส่วนของจำนวนหนี้ที่ถูกลด หรือ ถูกชะลอไว้จะมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับการต่อรองระหว่างเจ้าหนี้ และ ลูกหนี้ค่ะ

2.2. ข้อเสีย ของการประนอมหนี้

ถึงแม้ว่าการประนอมหนี้จะมีดีตรงที่ยืดระยะเวลาการชำระเงิน และ ส่งผลให้เราไม่ต้องถูกฟ้องร้อง แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีข้อเสียนะคะ ซึ่งข้อเสียของการประนอมหนี้ก็คือ ทางสถาบันการเงิน หรือ เจ้าหนี้จะทำการรวบรวมยอดหนี้ทั้งหมด นำไปบวกกับดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าทวงถามต่างๆ ที่เรานั้นไม่สามารถชำระได้ตามตกลง รวมกันเป็นหนี้ก้อนใหม่ โดยสัญญาการประนอมหนี้นั้นอาจคิดดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้นกว่าเดิมประมาณ 10% - 15% จึงทำให้เท่ากับว่าเป็นการเพิ่มหนี้ให้กับเรานั่นเองค่ะ

undefined

3. 13 วิธีขอประนอมหนี้กับธนาคาร

สำหรับวิธีการขอประนอมหนี้กับทางสถาบันการเงิน หรือ เจ้าหนี้นะคะ น้อง Genie มีทั้งหมด 13 วิธีที่จะมาแนะนำทุกคน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และธนาคารด้วยนะคะว่ากำหนดเงื่อนไขไว้อย่างไร

3.1. ขอผ่อนผันชำระคืนหนี้ค้าง

เมื่อเราเริ่มขาดการชำระค่างวด หรือ มีหนี้คงค้าง เราสามารถขอผ่อนชำระคืนยอดหนี้ได้สูงสุดถึง 36 เดือนติดต่อกัน ซึ่งก็สามารถทำได้หลายวิธีเลยค่ะ ยกตัวอย่างเช่น

  • เฉลี่ยหนี้ที่ค้างชำระทั้งหมดเป็นงวดๆ และทำการผ่อนชำระคืนติดต่อกันทุกงวด
  • ทำการติดต่อขอเจรจาจ่ายยอดหนี้ทั้งหมดเป็นเงินก้อนในเวลาที่ตกลงกัน
  • หรือ ทำการจ่ายเป็นเงินก้อนเป็นงวดๆ ตามที่ตกลงกัน

3.2. ขอขยายเวลาชำระหนี้

เราสามารถขอขยายระยะเวลาในการกู้เงินต่อไปได้นานถึง 30 ปีนับจากปัจจุบัน ทั้งนี้เพื่อให้ภาระยอดผ่อนในแต่ละเดือนนั้นน้อยลง หรืออยู่ในระดับที่เราสามารถผ่อนต่อไปทุกเดือนได้นั่นเองค่ะ แต่เงื่อนไขโดยทั่วไปนั่นกำหนดไว้ว่า อายุของผู้กู้เมื่อรวมกับระยะเวลาที่ขอขยายเวลากู้จะต้องไม่เกิน 70 ปี และที่สำคัญหากมีดอกเบี้ยที่คงค้างอยู่ก็จะต้องชำระให้หมดก่อนนั่นเองค่ะ

3.3. ขอกู้เพิ่มเพื่อชำระดอกเบี้ยค้าง

หากเราไม่สามารถชำระดอกเบี้ยที่คงค้างได้ทั้งหมด เราสามารถขอกู้เพิ่มพร้อมกับขยายระยะเวลาเงินกู้ได้ค่ะ แต่มีข้อแม้ว่าเราจะต้องชำระเงินค่างวดให้เป็นปกติ และสม่ำเสมอเป็นระยะเวลา 3 เดือนก่อนค่ะ และอัตราเงินผ่อนงวดใหม่ หรือเรียกง่ายๆ ว่า “วงเงินที่ขอกู้เพิ่ม รวมกับ เงินต้นที่คงเหลือ” จะเพิ่มขึ้นได้ไม่เกิน 25% ของค่างวดเดิมค่ะ

3.4. ขอชำระเฉพาะดอกเบี้ย

ในกรณีนี้นะคะ จะขอได้เฉพาะบางช่วงเวลาเท่านั้นค่ะ เช่น ช่วงที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 บางสถาบันอาจจะมีการลดหย่อนให้สามารถชำระได้เฉพาะดอกเบี้ยเท่านั้น หรือ เราสามารถเจรจาขอผ่อนชำระแต่ดอกเบี้ยไปก่อนก็ได้ค่ะ โดยเงื่อนนี้จะถูกพิจารณาเฉพาะลูกหนี้ที่มีประวัติการชำระดีเท่านั้นนะคะ และที่สำคัญระยะเวลาในการผ่อนผันนั้นจะไม่เกิน 12 เดือน และสามารถยื่นขอเงื่อนไขนี้ได้เพียงครั้งเดียวอีกด้วยค่ะ

3.5. ขอชำระต่ำกว่าเงินงวดปกติ

ในกรณีนี้นะคะ ทางธนาคาร หรือ สถาบันการเงินต่างๆ มักจะกำหนดให้จำนวนเงินที่ชำระต้องมากกว่าดอกเบี้ย ตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป ระยะเวลาในการผ่อนชำระในกรณีนี้จะต้องไม่เกิน 2 ปี และสามารถขอดำเนินการได้เพียงครั้งเดียวด้วยค่ะ

ซึ่งกรณีนี้จะเหมาะกับผู้กู้ที่มีคุณสมบัติ และ ตกอยู่ในสถานการณ์ ดังนี้ค่ะ

  • ผู้กู้ยังคงมีรายได้เป็นประจำทุกเดือน แต่มีเหตุให้รายได้ต่อเดือนลดลง
  • มีประวัติการชำระค่าผ่อนบ้านดี

3.6. ขอลดอัตราดอกเบี้ยเป็นกรณีพิเศษ

สำหรับกรณีนี้ เมื่อลูกหนี้ถูกปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงขึ้นจากอัตราปกติ ลูกหนี้สามารถแจ้งขอลดอัตราดอกเบี้ยในวันที่ชำระเงินได้ค่ะ แต่ต้องชำระยอดหนี้ที่ค้างทั้งหมดเป็นก้อนเดียว และภายในวันเดียวค่ะ (เงินต้น และ ดอกเบี้ยที่คงค้าง)

3.7. ขอโอนทรัพย์สินให้ธนาคาร (ชั่วคราว)

ในกรณีนี้ถือว่าได้รับความนิยมสูงมากๆ เลยค่ะ เมื่อเราไม่สามารถผ่อนบ้าน หรือ คอนโดต่อไปได้แล้ว เราสามารถโอนบ้านให้กับสถาบันการเงิน และ ยังสามารถขอซื้อคืนได้ในภายหลังอีกด้วยค่ะ ซึ่งโดยปกติแล้วนั้นสถาบันการเงิน หรือ ธนาคารจะรับโอนหลักประกัน โดยจะหักลบค่าใช้จ่ายต่างๆ ในจำนวนที่ไม่เกิน 90% ของมูลค่าหลักประกัน หากคำนวณแล้วยังมีหนี้ หรือ ค่าใช้จ่ายที่เกินมานั้น เราจะต้องทำการชำระให้หมดสิ้นภายในวันโอนค่ะ

ในขณะเดียวกันนั้นเมื่อเราโอนบ้าน/คอนโด ให้กับสถาบันการเงิน หรือ ธนาคารแล้ว เราก็ยังสามารถอาศัยอยู่ภายในบ้าน/คอนโดได้ค่ะ แต่จำเป็นที่จะต้องเสียค่าเช่า ซึ่งโดยทั่วไปจะมีอัตราค่าเช่าที่ถูกกว่าอัตราผ่อนชำระหนี้ค่ะ

3.8. ขอให้ธนาคารชะลอการฟ้อง

ในกรณีนี้นะคะ เมื่อเราค้างชำระนานจนธนาคาร หรือ สถาบันการเงินฟ้องบังคับจำนอง เราสามารถเจรจาขอให้ธนาคารนั้นชะลอการฟ้องได้ แต่ขั้นตอน และ เงื่อนไขจะมีความซับซ้อน และ ยุ่งยากมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เราต้องชำระเงินตามกำหนดโดยมี่ไม่ขาดส่งเป็นระยะเวลา 6 เดือน และสามารถผ่อนชำระต่อตามสัญญา หรือ ข้อตกลงเดิม หรือขอชำระแต่ดอกเบี้ยโดยไม่ผิดนัดชำระเป็นเวลา 12 เดือน เป็นต้นค่ะ

เมื่อเราทำตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนดจนครบแล้วนั้น ทางธนาคารจะทำการพิจารณาคำนวณเงินงวดใหม่ที่เราจะต้องชำระต่อไปนั่นเองค่ะ

3.9. ขอให้ธนาคารถอนฟ้อง

โดยเงื่อนไขนี้ลูกหนี้ที่ถูกฟ้องจะต้องมาติดต่อชำระหนี้ให้ทันงวด และ ไม่มีดอกเบี้ยค้าง พร้อมทั้งชำระค่าธรรมเนียมศาลและค่าใช้จ่ายอื่นให้ครบถ้วนค่ะ

3.10. ขอให้ชะลอการขายทอดตลาด

ในกรณีนี้นะคะ เราสามารถขอเจรจากับทางธนาคารให้ชะลอการขายทอดตลาดไว้ก่อนได้ แต่เราจะต้องเสียค่าใช้จ่ายจิปาถะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ค่าธรรมเนียมศาล ค่าใช้จ่ายต่างๆ ในชั้นฟ้องคดี และบังคับคดี รวมทั้งค่าพาหนะในการเดินทางของทนายความเพื่อไปเลื่อนการขายให้ครบถ้วน

จากนั้นเราก็ต้องชำระหนี้ติดต่อกันโดยไม่ขาดส่งเป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งเมื่อรวมแล้วยอดหนี้ที่เหลือจะต้องไม่เกินร้อยละ 80 ของราคาประเมินหลักประกันใหม่ และทางธนาคารจึงจะดำเนินการทำสัญญากู้ฉบับใหม่ให้นั่นเองค่ะ

3.11. ขอยอมความกับธนาคาร

สำหรับกรณีนี้นะคะเมื่อเราถูกธนาคารฟ้องร้องแล้ว เราอาจจะขอยอมความกับธนาคาร โดยที่เราจะต้องชำระค่าธรรมเนียมศาล ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี และ ค่าทนายความเองค่ะ

แต่ทั้งนี้เงื่อนไขที่สำคัญเลยก็คือ เราจะต้องชำระหนี้ทั้งหมด และ ไถ่ถอนจำนองภายในระยะเวลาที่กำหนด หรืออาจจะขอกำหนดเงินผ่อนชำระใหม่ เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระในช่วง 1 - 2 ปีแรก และจะปรับเงินผ่อนชำระให้สูงขึ้น จนสามารถชำระหนี้ได้หมดสิ้นนั่นเองคะ

3.12. ขอให้ชะลอการยึดทรัพย์

เมื่อเราถูกศาลพิพากษาให้ยึดทรัพย์ เราสามารถขอให้ชะลอการยึดทรัพย์นั้นได้ค่ะ แต่เราจะต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีค่าทนายความ รวมถึงค่าพาหนะในการเดินทางของทนายความเพื่อไปเลื่อนคดีและค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการบังคับคดีให้ครบถ้วน

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราจะต้องชำระหนี้ทั้งหมด และไถ่ถอนจำนองภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน โดยจะต้องชำระหนี้บางส่วนตามที่ตกลงกัน และ ถ้าเรามีหลักประกันที่มีราคาสูงกว่าราคาประเมินร้อยละ 80 เราอาจจะได้รับการพิจารณาทำสัญญาเงินกู้ฉบับใหม่ แต่เราต้องมีการชำระหนี้ หรือทำตามข้อตกลงกับสถาบันการเงิน หรือธนาคารติดต่อกันโดยไม่ขาดส่งเป็นเวลา 6 งวดแล้วเท่านั้นนะคะ

3.13. ขอเปลี่ยนตัวลูกหนี้

สำหรับเงื่อนไขนี้นะคะ ลูกหนี้จะต้องชำระค่าธรรมเนียมศาล ค่าใช้จ่ายต่างๆ ในชั้นฟ้องคดีและชั้นบังคับคดีให้หมดเสียก่อน และลูกหนี้เดิมจะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนที่ได้ขอประนอมหนี้ไว้จากนั้นจึงค่อยให้ผู้กู้รายเดิมหรือผู้กู้รายใหม่ยื่นคำขอกู้ต่อไป ตามสัญญากู้ใหม่ กู้เพิ่มหรือเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในสัญญานั่นเองค่ะ

undefined

4. เอกสารที่ต้องเตรียม เมื่อขอประนอมหนี้

ในการขอประนอมหนี้กับธนาคารนั้น ถือว่าเราได้คิดทบทวนในการวางแผนชำระหนี้ใหม่ ซึ่งต้องมีการเตรียมเอกสารต่างๆ เพื่อยืนยันแผนการชำระหนี้ด้วยนั่นเองค่ะ

4.1. เอกสารส่วนตัว

  • บัตรประชาชน
  • สำเนาทะเบียนบ้าน
  • สำเนาทะเบียนสมรส
  • ใบหย่า (หากมี)
  • ใบมรณบัตร (หากมี)

4.2 เอกสารรายได้ (เพื่อให้ธนาคารพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้)

  • สำหรับผู้ประกอบอาชีพประจำ หรือ พนักงานรับเงินเดือน
  • หนังสือรับรองเงินเดือนตัวจริง
  • สลิปเงินเดือน ย้อนหลัง 3 เดือน
  • บัญชีเงินฝากย้อนหลัง 6 เดือน
  • สำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระ เจ้าของกิจการ หรือ อาชีพค้าขาย
  • หนังสือจดทะเบียนบริคณห์สนธิ
  • หนังสือจดทะเบียนการค้า
  • บัญชีเงินฝากย้อนหลัง 12 เดือน หรือ เอกสารที่เกี่ยวกับการประกอบอาชีพ เช่น สัญญาเช่าแผง เช่าร้าน ตัวอย่างใบสั่งสินค้า

4.3. เอกสารแสดงภาระหนี้ต่าง ๆ

  • ใบแจ้งหนี้บัตรเครดิต, สินเชื่อส่วนบุคคล หรือสัญญากู้เงินต่าง ๆ
  • เอกสารเลิกจ้าง หรือ เอกสารแจ้งการลดเงินเดือน (ถ้ามี)

ทั้งนี้เอกสารข้างต้นที่น้อง Genie นำมาฝากนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ต้องเตรียมเท่านั้น สถาบันการเงิน หรือ ธนาคารบางแห่งอาจจะขอเอกสารเพิ่มเติมนอกเหนือจากนี้ หรือ น้อยกว่านี้ ดังนั้นเพื่อนๆ อย่าลืมสอบถามกับธนาคารให้เรียบร้อยก่อนนะคะ จะได้ไม่เสียเวลาในการเตรียมเอกสารซ้ำซ้อน

เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับข้อมูลที่นำมาเสนอกันในวันนี้ ส่วนตัวน้อง Genie มองว่าเมื่อเราเผชิญปัญหาไม่ว่าจะเรื่องอะไร เราควรจะหันหน้าแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ หากเราไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ลองปรึกษาผู้ที่มีความรู้ หรือ ผู้ที่เคยมีประสบการณ์ อย่างน้อยๆ ก็จะสามารถเป็นตัวเลือก และ อาจจะทำให้เราได้พบกับทางออกที่ดีได้แน่นอนค่ะ

ในกรณีที่เพื่อนๆ มีปัญหาเรื่องการเงิน ภาระหนี้สินจนไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามปกติ การประนอมหนี้ ถือว่าเป็นทางออกที่ดีกับทั้งฝ่ายเจ้าหนี้ และ ฝ่ายลูกหนี้อย่างเราด้วยค่ะ และน้อง Genie หวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความบทนี้จะช่วยให้เพื่อนๆ ได้มีทางออกที่ดีในการแก้ปัญหาไม่มากก็น้อยนะคะ

เพื่อนๆ คนไหนที่กำลังมองหาบ้าน หรือคอนโดที่สร้างเสร็จพร้อมตกแต่ง และสามารถเข้าอยู่ได้เลยไม่ควรพลาดเว็บไซต์นี้ค่ะ www.genie-property.com ตัวช่วยง่ายๆ ในรูปแบบ VR Tour ที่จะทำให้เพื่อนๆ ประหยัดเวลา แถมได้เห็นห้องจริงๆ โดยที่ไม่ต้องเสียเวลาออกไปดูหลายๆ ที่ เว็บนี้ตอบโจทย์เพื่อนๆ แน่นอนค่ะ

และเพื่อเป็นกำลังใจให้น้อง Genie เพื่อนๆ สามารถเข้ามาพูดคุย หรือกดติดตามข่าวสารดีๆเกี่ยวกับแวดวงอสังหาฯ และ ไลฟ์สไตล์กันได้ผ่านทางช่องทางด้านล่างนี้เลยค่าาา

LINE: @genie-property.com

FACEBOOK: Genie-Property.com

EMAIL: sales@genie-property.com

Website : www.genie-property.com

CALL CENTER: 093-232-9888,064-931-8666

แนะนำบทความที่น่าสนใจ

  1. Refinn คืออะไร ( ฉบับเข้าใจง่าย )
  2. เทคนิค รีไฟแนนซ์ คอนโด ดอกเบี้ยลด ผ่อนหมดไว
  3. สรุปขั้นตอนก่อนตัดสินใจ “รีไฟแนนซ์” คอนโด และ บ้าน เข้าใจง่ายภายใน 5 นาที

ขอบคุณข้อมูลจาก

Home

Estopolis

DDProperty