คนอยากมีบ้านห้ามพลาด!! กับมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ปี 2565

สร้างเมื่อ May 2, 2022

เพื่อนๆคนไหนที่กำลังเตรียมจะซื้อบ้าน หรือ คอนโดในปีนี้นะคะต้องบอกว่า “คุณคือผู้โชคดี” แล้วหล่ะค่ะ เพราะว่าในปี 2565 นั้น ภาครัฐได้ออกมาตรการเยียวยาอสังหาริมทรัพย์ทั้ง 6 มาตรการเลยทีเดียวค่ะ ซึ่งแต่ละมาตรการจะมีอะไรที่น่าสนใจบ้างนั้น ตามน้อง Genie มาดูกันเลยค่าาา

undefined

1. มาตรการผ่อนคลาย LTV (ชั่วคราว)

สำหรับเพื่อนๆ คนไหนที่มีแพลนจะซื้อบ้าน หรือ คอนโดนะคะ ต้องรู้จักกับ “มาตรการ LTV” หรือ Loan-To-Value Ratio ค่ะ ซึ่งมาตรการนี้ คือ มาตรการที่ทาง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาเพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์นั่นเองค่ะ

โดย มาตรการ LTV หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ หลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่ออื่นที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัย ซึ่งจะเป็นการกำหนดเงินดาวน์ขั้นต่ำนั่นเองค่ะ ยกตัวอย่างเช่น ถ้า LTV กำหนดที่ 90% หมายความว่าเราจะสามารถกู้ได้เพียง 90% ของราคาบ้านค่ะ และจะต้องเตรียมเงินเพิ่มในส่วนที่เหลือด้วย 10% เป็นเงินดาวน์นั่นเองค่ะ ซึ่งทาง ธปท.ได้กำหนดเกณฑ์ LTV ใหม่ตามตารางดังนี้ค่ะ

undefined

สำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็น บ้านเดี่ยว คอนโด อาคารพาณิชย์ สัดส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน หรือ LTV สามารถแบ่งได้เป็น 2 กรณีดังนี้ค่ะ

  • กรณีที่ 1 ซื้อที่อยู่อาศัยราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท สามารถกู้ได้เต็ม 100% ของราคาที่อยู่อาศัยตั้งแต่หลังที่สองเป็นต้นไป จากเดิมที่สามารถให้กู้ได้เพียง 70% - 90% เท่านั้น และยังคงให้เงื่อนไขเดิมสำหรับ ที่อยู่อาศัยหลังแรก ที่สามารถกู้ได้ 100% อีกทั้งยังเพิ่มให้อีก 10% เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการเข้าอยู่อาศัย อาทิเช่น การซื้อเฟอร์นิเจอร์ หรือ ของตกแต่งบ้าน รวมแล้วเราสามารถกู้ได้ 110% ในการกู้ซื้อบ้านหลังแรกที่ราคาไม่เกิน 10 ล้านบาทค่ะ
  • กรณีที่ 2 ซื้อที่อยู่อาศัยราคามากกว่า 10 ล้านบาทขึ้นไป สามารถกู้ได้เต็ม 100% เช่นเดียวกัน จากเดิมที่ขอสินเชื่อได้เพียง 70% - 90% เท่านั้น จะสามารถแยกเป็นอีก 2 กรณีได้ดังนี้
  • บ้านราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท ตั้งแต่สัญญากู้หลังที่ 2 เป็นต้นไป
  • บ้านราคาตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป ตั้งแต่สัญญากู้หลังที่ 1 เป็นต้นไป

ซึ่งการผ่อนคลายนี้เป็นมาตรการเพียงชั่วคราวเท่านั้น สำหรับสัญญาเงินกู้ที่เริ่มทำสัญญาตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 เท่านั้นค่ะ

สำหรับกรณีของการกู้ร่วม หากผู้กู้ร่วมไม่มีชื่อเป็นกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย จะผ่อนปรนเสมือนยังไม่เป็นผู้กู้ในครั้งนั้น เนื่องจากไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่ออยู่อาศัย เพียงแค่ช่วยเหลือกันภายในครอบครัวนั่นเองค่ะ

2. มาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอน - จดจำนอง

มาถึงอีกหนึ่งมาตรการที่เรียกได้ว่ามีผลต่อผู้ที่กำลังวางแผนซื้อบ้าน หรือ คอนโดที่ราคาไม่เกิน 3 ล้านเป็นอย่างมากค่ะ นั่นก็คือ มาตรการลดค่าโอน-ค่าจดจำนองนั่นเอง โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีอัตราที่กำหนดดังนี้ค่ะ

  1. ลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ จากอัตราปกติ 2.00% เหลือ 0.01%
  2. ลดค่าธรรมเนียมการจำนอง จากอัตราปกติ 1.00 % เหลือ 0.01%

เงื่อนไขมาตรการลดค่าโอน-จดจำนอง

  • ต้องเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่มีราคาซื้อ - ขาย และ ราคาประเมินไม่เกิน 3 ล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นประเภทบ้านเดี่ยว-อาคารพาณิชย์ อาคารพร้อมที่ดิน อาคารชุด เป็นต้น
  • มาตรการนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565
undefined

3. คงราคาประเมินที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง

สำหรับมาตรการนี้นะคะ กรมธนารักษ์ประกาศเลื่อนใช้ราคาประเมินรอบใหม่ไปอีก 1 ปี ซึ่งราคาประเมินที่เราใช้อยู่ในปัจุบันนั้นจะยังคงเป็น ราคาประเมินในรอบปี 2559 - 2562 อยู่นั่นเองค่ะ เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ และเป็นการผยุงธุรกิจ เนื่องจากว่าราคาประเมินจะส่งผลต่อค่าธรรมเนียมต่างๆข้างต้นนั่นเองค่ะ

โดยกรมธนารักษ์จะมีการประกาศราคาประเมินรอบใหม่ภายในเดือน “ธันวาคม พ.ศ. 2565” เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมาย และให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ “1 มกราคม 2566” ค่ะ

เพื่อนๆ สามารถเช็คราคาประเมินที่ดินปัจจุบันได้ที่ : ระบบเผยแพร่ราคาประเมินทรัพย์สิน กรมธนารักษ์

undefined

ขอบคุณภาพจาก กรมธนารักษ์

4. มาตรการ คงดอกเบี้ยนโยบาย

อัตราดอกเบี้ยนโยบาย คือ อัตราดอกเบี้ยนโยบาย เป็นอัตราที่ธนาคารกลางจ่ายดอกเบี้ยให้กับธนาคารพาณิชย์ที่เอาเงินมาฝาก หรือเป็นอัตราที่ธนาคารกลางเก็บดอกเบี้ยจากธนาคารพาณิชย์ที่มากู้เงิน ซึ่งอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลกับอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์คิดกับลูกค้าที่เป็นผู้กู้หรือผู้ฝากเงินนั่นเองค่ะ

โดยเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมานั้น คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ได้มีการกำหนดให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ ร้อยละ 0.5% ต่อปี ซึ่งถือว่าเป็นผลดีต่อผู้ที่กำลังวางแผนจะกู้ซื้อที่อยู่อาศัยเพราะจะได้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงค่ะ แต่ในขณะเดียวกันนั้นผู้ที่ฝากเงินในธนาคารก็จะได้อัตราดอกเบี้ยที่ดูน้อยไปนิดนั่นเองค่ะ

undefined

ขอบคุณภาพจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย

5. การเคหะแห่งชาติ ช่วยคนซื้อบ้าน ดอกเบี้ย 4 ปีแรก 1.5%

เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2565 ที่ผ่านมานะคะ การเคหะแห่งชาติได้ออกมาประกาศข่าวดีสำหรับ “โครงการสินเชื่อเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย” ปี 2565 ดอกเบี้ย 4 ปีแรก เพียง 1.5%” เพื่อรองรับผู้ที่มีรายได้น้อย และ ผู้ที่ต้องการซื้อบ้านในเครือการเคหะแห่งชาติ แต่ไม่ผ่านการพิจารณาสินเชื่อจากสถาบันการเงิน โดยอัตราดอกเบี้ยของโครงการจะแบ่งเป็นทั้งหมด 2 กรณีดังนี้ค่ะ

  • กรณีที่ 1 บุคคลทั่วไป
  • ปีที่ 1 – 4 อัตราดอกเบี้ย 1.5%
  • ปีที่ 5 – 7 อัตราดอกเบี้ย 2.5%
  • ปีที่ 8 – 40 อัตราดอกเบี้ย 3.75%
  • กรณีที่ 2 กลุ่มเปราะบาง หรือ บุตรที่ซื้อบ้านในโครงการที่พ่อแม่อาศัยอยู่ โดยระยะเวลาการทำสัญญาเช่าซื้อ 40 ปี เมื่อรวมกับอายุผู้เช่าซื้อต้องไม่เกิน 70 ปี (อายุไม่เกิน 30 ปี)
  • ปีที่ 1 – 5 อัตราดอกเบี้ย 1.5%
  • ปีที่ 6 – 7 อัตราดอกเบี้ย 2.5%
  • ปีที่ 8 – 40 อัตราดอกเบี้ย 3.75%

สำหรับโครงการที่เข้าร่วมจะมีทั้งหมด 3 โครงการดังนี้ค่ะ

  1. โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุดที่ 1 เชิงสังคมที่มีราคาไม่เกิน 1,000,000 บาท
  2. โครงการเคหะชุมชน (เดิม)
  3. โครงการบ้านเอื้ออาทร ยกเว้น
  • โครงการบ้านเอื้ออาทรสวนพลูพัฒนา
  • โครงการบ้านเอื้ออาทรรัฐเอื้อราษฎร์กองทัพเรือ
  • โครงการบ้านเอื้ออาทรพัทลุง

สำหรับเงื่อนไขในการขอสินเชื่อบ้านการเคหะ

  • ผู้ยื่นขอสินเชื่อต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย
  • ต้องเป็นผู้ที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย
  • รายได้ครัวเรือนไม่เกิน 41,600 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน
  • หลักเกณฑ์อื่น ๆ ตามประกาศของการเคหะแห่งชาติ

สำหรับผู้ที่สนใจโครงการดังกล่าวสามารถยื่นคำขอได้ที่สำนักงานใหญ่ หรือ สำนักงานเคหะนครหลวงและสำนักงานเคหะจังหวัด และยังสามารถจองผ่านได้ออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ การเคหะแห่งชาติ โทร. 1615 หรือ LINE OA @nha_marketing

6. คงอัตราค่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

สำหรับมาตรการนี้นะคะจะเป็นการ คงอัตราภาษีเดิมปี 2563 – 2564 ไว้ เนื่องจากว่าในปี 2563 ครม.ได้มีการปรับลดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลงกว่า 90% ของอัตราเดิมแล้วค่ะ นั่นส่งผลให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขาดรายได้ที่จะนำมาพัฒนาท้องถิ่นประมาณ 40,000 ล้านบาทต่อปีค่ะ จึงทำให้ปี 2565 ใช้เป็นการ คงอัตราภาษีเดิมในปี 2563 - 2564 นั่นเองค่ะ เพื่อที่เราจะได้มีเวลาในการปรับตัวเพื่อเสียภาษีในอัตราที่แท้จริงอีกครั้งในปี 2567 นั่นเองค่ะ โดยผู้เสียภาษียังคงได้รับการบรรเทาภาระภาษีหลายกรณีดังนี้ค่ะ

  1. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของเป็นบุคคลธรรมดาและใช้ประกอบเกษตรกรรมได้รับยกเว้นภาษี
  2. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยที่เจ้าของเป็นบุคคลธรรมดา และมีชื่อในทะเบียนบ้านในวันที่ 1 มกราคม จะได้รับยกเว้นมูลค่าฐานภาษีไม่เกิน 50 ล้านบาท
  3. กรณีที่เป็นเจ้าของเฉพาะสิ่งปลูกสร้าง ก็จะได้รับยกเว้นมูลค่าฐานภาษีสำหรับสิ่งปลูกสร้างที่มีมูลค่าไม่เกิน 10 ล้านบาท ดังนั้น ผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์สิน มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท หรือไม่เกิน 10 ล้านบาท แล้วแต่กรณี จะไม่ได้รับผลกระทบ แต่สำหรับบุคคลที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินดังกล่าวที่มีมูลค่าเกิน 50 ล้านบาท หรือเกิน 10 ล้านบาท แล้วแต่กรณี จะเสียภาษีเต็มอัตราเฉพาะส่วนที่เกินเท่านั้น
  4. การผ่อนปรนภาระภาษีให้แก่ผู้เสียภาษีกรณีมีภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สูงกว่าค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่ที่เคยชำระในปี 2562 จะบรรเทาภาระให้โดยเสียภาษีเท่ากับค่าภาษีปี 2562 บวกกับร้อยละ 75 ของส่วนต่างค่าภาษีปี 2565 กับปี 2562

สำหรับรายละเอียดอัตราภาษีเดิมที่ประกาศใช้ในปี 2563-2564 สามารถรูปได้ดังภาพค่ะ

undefined

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ สำหรับมาตรการเยียวยาอสังหาริมทรัพย์ในปี 2565 ที่นำมาฝากกันในวันนี้ สำหรับน้อง Genie มองว่า ภาครัฐนั้นยังเล็งเห็นความสำคัญเรื่องที่อยู่อาศัยของประชาชนเป็นหลักค่ะ แต่มาตรการที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะเป็นเพียงมาตรการที่กระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงระยะสั้นๆเท่านั้น หากเพื่อนๆคนไหนที่ต้องการจะซื้ออสังหาริมทรัพย์ในช่วงนี้นั้น จะต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดในอนาคตด้วยนะคะ

สำหรับบทความนี้น้อง Genie หวังว่าจะเป็นประโยชน์และสามารถทำให้เพื่อนๆตัดสินใจที่จะซื้อบ้าน คอนโด หรือที่ดินกันง่ายขึ้นนะคะ

เพื่อนๆสามารถติดตามและให้กำลังใจทีมงานนักเขียนทุกท่านผ่านการ “กดถูกใจ” ได้ที่ Facebook Fanpage ข้างล่างนี่เลยนะคะ

LINE: @genie-property.com

FACEBOOK: Genie-Property.com

EMAIL: sales@genie-property.com

CALL CENTRE: 093-232-9888,064-931-8666

Website : www.genie-property.com

ขอบคุณข้อมูลจาก

DD Property

TNN online

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์